กษ.เล็งตั้ง ฟาร์มเมอร์ มาร์เก็ต 50 เขตในกทม. ภายใต้โครงการเกษตรกรรมยั่งยืน

นายอลงกรณ์ พลบุตร ที่ปรึกษา รมว.เกษตรและสหกรณ์ และในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (Sustainable Urban Agriculture Development Project @ Bangkok) เปิดเผยว่า กรุงเทพมหานคร มีการพัฒนาเมืองอย่างรวดเร็ว ทำให้ประชากรและชุมชนเพิ่มขึ้น ประสบปัญหาความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เพราะมีพื้นที่เกษตรน้อย และมีพื้นที่สีเขียวไม่ได้สัดส่วนกับจำนวนประชากร กระทบต่อระบบนิเวศทางธรรมชาติ และคุณภาพชีวิตของประชาชน

ดังนั้น คณะกรรมการบริหารและพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน โดยกระทรวงเกษตรฯ จึงวางโครงสร้างและระบบเป็นกลไกแบบมีส่วนร่วม ในการพัฒนาภาคการเกษตรในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ด้วยโครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมือง (Sustainable Urban Agriculture Development Project: SUAD Project) ตามนโยบายของ นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ ในฐานะประธานคณะกรรมการพัฒนาระบบเกษตรกรรมยั่งยืน ซึ่งได้กำหนดยุทธศาสตร์ “3’s” (Safety-Security-Sustainability เกษตรปลอดภัย เกษตรมั่นคง และเกษตรยั่งยืน) โดยมุ่งเน้นการพัฒนากรุงเทพมหานครให้เป็น “มหานครสีเขียวแห่งอนาคต”

ทั้งนี้ สอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals: SDGs) ของสหประชาชาติ ในการรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ (Climate Change) ของโลก และเป้าหมายของโครงการกรุงเทพสีเขียว 2030 (Green Bangkok 2030) ในการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ยังสอดรับกับโครงการธนาคารสีเขียว (Green Bank) ที่ส่งเสริมการปลูกไม้เศรษฐกิจ ซึ่งช่วยให้เกิดการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในเมืองเพิ่มขึ้น เป็นการสร้างการขับเคลื่อนให้เกิดในลักษณะองค์รวม

ตัวอย่าง เช่น โครงการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืนในเมืองพื้นที่วัด (Green Temple) ณ ธรรมสถานวัดพระราม 9 กาญจนภิเษก รวมถึงวัดพระยาสุเรนทร์ บนความร่วมมือระหว่างบ้าน วัด และโรงเรียน (บ.ว.ร.) เพื่อส่งเสริมให้คนในชุมชนเมืองใกล้วัด ร่วมทำการเกษตรพัฒนาอาหารปลอดภัย สร้างจิตสำนึกให้คนในชุมชนเกิดการแบ่งปัน รวมถึงเป็นรายได้ให้แก่ชุมชนด้วย

นายอลงกรณ์ กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้ มีขึ้นเพื่อรับทราบผลการดำเนินงานในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งเมื่อวันที่ 5 เม.ย. 65 สำนักสิ่งแวดล้อม ได้จัดกิจกรรมปักกล้าดำนาข้าวพันธุ์ กข 87 พร้อมปลูกต้นกล้าป่าเบญจพรรณ 962 ต้น ตามโครงการ Green Bangkok 2030 ณ ศูนย์เรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โคกหนองนา ทวีวัฒนา โดยที่ประชุมยังได้กำหนดเตรียมการลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์ โคกหนองนา เขตทวีวัฒนา และพื้นที่การทำการเกษตรยั่งยืนในเมืองของมหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ในวันที่ 25 เม.ย. 65

นอกจากนี้ ที่ประชุมพิจารณาแนวทางการจัดตั้งตลาดเกษตรกร (Farmer Market) ในกรุงเทพมหานคร ที่ฝ่ายเลขานุการฯ เสนอจากการศึกษาตัวอย่างมีลักษณะและแนวทางที่แตกต่างกันไป ประกอบด้วย 1. จัดตั้งในเขตชุมชนเมือง ภายใต้ความร่วมมือกันของภาคีภาคส่วนต่างๆ ทั้งเครือข่ายองค์กรเกษตรกร ภาคเอกชนและภาครัฐ 2. ตลาดเกษตรกรออนไลน์ โดยการจองล่วงหน้าและมารับผลิตผล ณ พื้นที่จัดงาน ผ่านแพลตฟอร์ม อาทิ แพลตฟอร์มจ่ายตลาด (Jaitalad) เพื่อช่วยในเรื่องการกระจายสินค้าที่ทั่วถึง ซึ่งหากนำทั้ง 2 รูปแบบมาผสมผสานกันจะทำให้การจัด Farmer Market มีการกระจายตัวของเกษตรกร และผลิตผลถึงมือประชาชนได้อย่างทั่วถึง

ทั้งนี้ ที่ประชุมมีมติเห็นชอบแนวทางการจัด Farmer Market ในเขตกรุงเทพมหานคร และมอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดทำบัญชีรายชื่อพื้นที่ที่สามารถดำเนินการได้ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่เอกชน พื้นที่ว่างสาธารณะ พื้นที่การเคหะรวมถึงวัด และสถานศึกษาโดยขอให้กระจายให้ครบทั้ง 50 เขต ซึ่งจะมอบหมายให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) กรมวิชาการ กรมส่งเสริมการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน เป็นต้น เข้ามาร่วมในการดูแลเรื่องมาตรฐานอาหารปลอดภัย (Food safety) ด้วย

นอกจากนี้ ให้ฝ่ายเลขานุการฯ จัดประชุมเป็นการเฉพาะในเรื่องการออกแบบตลาดหลายขนาดตั้งแต่เล็ก กลาง และขนาดใหญ่ ในพื้นที่กรุงเทพมหานครตามความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่ พร้อมมอบหมายอนุกรรมการศึกษารูปแบบธุรกิจเพื่อสังคม (social enterprise) เป็นกลไกแบบมีส่วนร่วมในการขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่องยั่งยืนที่มีประสิทธิภาพ ทั้ง 50 เขตในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดยจะเสนอให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 เม.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top