การผลิตภาคอุตสาหกรรมญี่ปุ่นขยายตัว หลังผลกระทบโควิดบรรเทาลง

กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นเปิดเผยรายงานเบื้องต้นในวันนี้ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.ปรับตัวขึ้น 0.3% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน เนื่องจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เริ่มบรรเทาลง โดยการผลิตภาคอุตสาหกรรมเดือนมี.ค.เพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 2 หลังจากที่ปรับตัวขึ้น 2.0% ในเดือนก.พ.

ทั้งนี้ กระทรวงฯ ยังคงประเมินว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมส่งสัญญาณฟื้นตัว

รายงานระบุว่า ดัชนีการผลิตที่โรงงานและเหมืองแร่ของญี่ปุ่น อยู่ที่ระดับ 96.5 จุด เมื่อเทียบกับฐานที่ระดับ 100 จุดของปี 2558 ส่วนดัชนีการขนส่งในภาคอุตสาหกรรมปรับตัวขึ้น 0.5% แตะที่ 93.2 จุด และดัชนีสต็อกสินค้าคงคลังภาคอุตสาหกรรม ปรับตัวลง 0.6% แตะที่ 100.7 จุด

เมื่อพิจารณาจากการสำรวจความเห็นของกลุ่มผู้ผลิตญี่ปุ่น กระทรวงฯ คาดการณ์ว่า การผลิตภาคอุตสาหกรรมในเดือนเม.ย.จะเพิ่มขึ้น 5.8% ในเดือนเม.ย. แต่จะลดลง 0.8% ในเดือนพ.ค.

ส่วนการผลิตภาคอุตสาหกรรมตลอดปี 2564 พุ่งขึ้นแข็งแกร่งสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 5.8% หลังจากที่ร่วงลงติดต่อกันในช่วงสองปีก่อนหน้า อันเนื่องมาจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19

เจ้าหน้าที่กระทรวงฯ เปิดเผยกับผู้สื่อข่าวว่า “เรายังคงจับตาจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รวมทั้งภาวะขาดแคลนซัพพลาย และราคาสินค้าที่พุ่งขึ้น รวมถึงจับตาสถานการณ์ในยูเครน”

เศรษฐกิจญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับความท้าทายหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทรุดตัวของเงินเยน ขณะที่นายรานิล ซัลกาโด หัวหน้าฝ่ายกิจการประเทศญี่ปุ่นของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เตือนว่า การทรุดตัวลงอย่างรวดเร็วของเงินเยนอาจเป็นปัจจัยขัดขวางไม่ให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นฟื้นตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากการอ่อนค่าของเงินเยนทำให้ต้นทุนการนำเข้าสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อการใช้จ่ายของผู้บริโภค

ทั้งนี้ เงินเยนอ่อนค่าลงเกือบ 15 เยนเมื่อเทียบดอลลาร์นับตั้งแต่เดือนมี.ค. ซึ่งโดยปกติแล้วเงินเยนที่อ่อนค่าจะทำให้กลุ่มผู้ส่งออกญี่ปุ่นมีกำไรมากขึ้นเมื่อมีการแปลงค่าเงิน แต่ขณะนี้การทรุดตัวลงของเงินเยนกำลังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น เนื่องจากทำให้ราคานำเข้าพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆ พุ่งขึ้น โดยสินค้าเหล่านี้มีราคาสูงอยู่แล้วในขณะนี้ อันเนื่องมาจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 เม.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top