เกษตรกรทั่วปท.ร่วมมือรัฐคงราคาหมูหน้าฟาร์มแม้ต้นทุนสูงขึ้น วอนไม่นำเข้า

นายสุนทราภรณ์ สิงห์รีวงศ์ นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ เปิดเผยถึงสถานการณ์สุกรในขณะนี้ว่า ผลกระทบของภาวะโรค ASF เมื่อช่วงปลายปี 2564 ปรากฏผลชัดเจนในวันนี้ ตามรอบการผลิตสุกร ปัจจุบันทั้งแม่พันธุ์สุกร ลูกสุกรหย่านม และสุกรขุน หายไปจากระบบมากกว่า 50% จากการที่เกษตรกรเลิกเลี้ยงและหยุดการเลี้ยงไปมากกว่าครึ่งของประเทศ จากเกษตรกร 2 แสนราย เหลือเพียง 8 หมื่นราย เพราะยังไม่มั่นใจในสถานการณ์ของอุตสาหกรรม ประกอบกับต้องแบกรับภาระขาดทุนสะสมตลอด 3 ปีที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน ยังมีปัญหาต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะราคาธัญพืชที่นำมาผลิตอาหารเพื่อการเลี้ยงสัตว์ที่ปรับสูงขึ้นมาตลอด เช่นข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่เวลานี้ราคาพุ่งไปถึงกิโลกรัมละเกือบ 13 บาท ซึ่งเกษตรกรทุกคนยังคงรอความชัดเจนจากภาครัฐ ในแนวทางแก้ปัญหาต้นทุนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เกษตรกร ผู้เลี้ยงสุกรทุกภูมิภาคเห็นพ้องกัน ในการร่วมสนองนโยบายเปิดประเทศของรัฐบาล ด้วยการ “รักษาระดับราคาหน้าฟาร์ม 100 บาทต่อกิโลกรัม” ในช่วงที่ทุกฝ่ายกำลังพยายามฟื้นฟูเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว

“ผลจากโรค ASF ทำให้เกษตรกรในภาคเหนือมากกว่า 80% จำเป็นต้องหยุดการเลี้ยง คงเหลือเพียง 20% ที่ยังสามารถเลี้ยงหมูได้ต่อไป ส่งผลให้ปริมาณหมูหายไปจากระบบและไม่เพียงพอต่อการบริโภค พื้นที่ภาคเหนือจึงต้องพึ่งพาชิ้นส่วนหมู และหมูขุนจากภูมิภาคอื่นๆ ราคาเนื้อหมูในภาคเหนือจึงสูงกว่าพื้นที่อื่นเล็กน้อย และปัจจุบันอุตสาหกรรมหมูไทย ยังคงมีผู้เลี้ยงที่หลากหลาย ทั้งเกษตรกรรายเล็ก รายกลาง และรายใหญ่ ที่พร้อมใจรักษาอาชีพเลี้ยงหมูเอาไว้ เพื่อไม่ให้กระทบกับผู้บริโภคอย่างเด็ดขาด

สำหรับการปรับราคาสินค้าเป็นไปตามกลไกตลาด จากปริมาณผลผลิตที่ไม่เพียงพอกับการบริโภค โดยไม่มีการขึ้นราคาตามอำเภอใจ แต่เป็นการสะท้อนต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างแท้จริง และเพื่อให้เกษตรกรพออยู่ได้บ้างจากต้นทุนสูงการผลิตที่ปรับตัวขึ้นกว่า 30-40% ที่สำคัญปริมาณสุกรในขณะนี้มีไม่มากและอยู่ในมือเกษตรกรทั้งสิ้น”

นายสุนทราภรณ์ กล่าว

นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรภาคเหนือ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า แม้ว่าเกษตรกรจะไม่สามารถเข้าเลี้ยงสุกรได้ แต่ยังคงต้องลงทุนในการป้องกันโรคและกำจัดโรคให้หมดไปจากฟาร์ม เพื่อให้สามารถเลี้ยงสุกรได้อีกครั้ง แต่ทุกคนต่างพบอุปสรรคด้านการประกอบอาชีพ เพราะสถาบันการเงินไม่อนุมัติเงินกู้ยืม เนื่องจากขาดหลักประกันว่าจะมีรายได้มาผ่อนชำระได้ตามที่กำหนด ซึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เกษตรกรขอเรียกร้องไปยังภาครัฐได้ออกมาตรการช่วยเหลือ อาทิ เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ หรือการสนับสนุนเงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพเลี้ยงสัตว์ โดยเร็วที่สุดเพื่อให้มีแรงและกำลังในการเลี้ยงสุกรเพื่อเป็นหนึ่งในฐานสำคัญของความมั่นคงด้านอาหารโปรตีนแก่คนไทยต่อไป

“จากกลไกตลาด ที่ปริมาณผลผลิตหมูไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ราคาหมูเพิ่งจะปรับขึ้นมาในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเท่านั้น ราคาจำหน่ายในขณะนี้ที่ 98-100 บาทต่อกิโลกรัม เพียงให้เกษตรกรพอหนีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นถึง 98.81 บาทต่อกิโลกรัม เพื่อประคองอาชีพนี้ให้สามารถเลี้ยงหมูรุ่นต่อไปได้เท่านั้น เพราะต้นทุนการเลี้ยงต่างเพิ่มขึ้นหมด โดยเฉพาะค่าน้ำมันที่ปรับขึ้นไปแล้ว ทำให้ต้นทุนการเลี้ยงและภาคขนส่งพุ่งขึ้นแน่นอน โดยเกษตรกรร่วมกันรักษาระดับราคาหมูหน้าฟาร์มไว้เช่นนี้ เพื่อช่วยลดค่าครองชีพของผู้บริโภคและช่วยให้ตลาดปรับตัวได้

นอกจากนี้ เกษตรกร “ไม่เห็นด้วยกับแนวคิดการนำเข้าเนื้อหมูอย่างเด็ดขาด” เพราะเป็นการซ้ำเติมปัญหาและบิดเบือนกลไกตลาด ทั้งยังลดแรงจูงใจของผู้เลี้ยงที่กำลังจะกลับเข้าระบบ กลายเป็นอุปสรรคในการเพิ่มซัพพลายสุกรที่ภาครัฐกำลังเร่งผลักดันอยู่ และยังเพิ่มความเสี่ยงที่ผู้บริโภคจะรับสารเร่งเนื้อแดงที่อาจปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์นำเข้า เกษตรกรขอเพียงปล่อยให้กลไกตลาดทำงาน ก็จะช่วยแก้ปัญหาทั้งหมดได้ อย่างที่เคยประสบความสำเร็จมาแล้วทุกครั้งที่ผ่านมา”

นายสุนทราภรณ์ กล่าว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 พ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top