ศบค.แนะสถานศึกษาเปิดเรียนภายใต้มาตรการ Thai stop Covid ยันไม่บังคับตรวจ ATK

พญ.สุมนี วัชรสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ในที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ชุดเล็ก ได้เน้นย้ำมาตรการป้องกันโรคก่อนเปิดเทอมในช่วงเดือนพ.ค.นี้ โดยขอความร่วมมือสถานศึกษาให้เปิดเรียนแบบออนไซด์ให้ได้มากที่สุด ภายใต้มาตรการ Thai stop Covid 2 Plus ของกรมอนามัย

สำหรับบางโรงเรียนที่ยังให้นักเรียนตรวจ ATK ก่อนไปเรียนนั้น ไม่ได้เป็นข้อบังคับจากกระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงสาธารณสุขแต่อย่างใด แต่ควรประเมินอาการตรวจ ATK ก็ต่อเมื่อมีอาการทางเดินหายใจ ถ้าเกิดสงสัยก็ให้ตรวจ ATK ที่บ้าน ถ้าหากผลเป็นบวกก็ให้รักษาที่บ้าน หรือรักษาที่โรงพยาบาล โดยไม่ต้องไปโรงเรียน ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องตรวจ ATK ทุกสัปดาห์

อย่างไรก็ตาม ต้องเน้นย้ำการฉีดวัคซีนให้ได้มากที่สุดทั้งเด็กเล็กและเด็กโต สำหรับเด็กอายุ 12-17 ปี ต้องได้รับการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด สำหรับเด็กเล็กควรไปฉีดวัคซีนให้ครบโดสโดยเร็ว ซึ่งที่ผ่านมามีการฉีดวัคซีนในเด็กเล็ก 5-11 ปีไปแล้ว กว่า 2.7 ล้านโดส ซึ่งยังไม่พบผลข้างเคียงใดๆ และขอความร่วมมือผู้ปกครองนำเด็กไปฉีดวัคซีนให้ครบโดสก่อนเปิดเทอมด้วย

พร้อมกันนี้ ยังมีการรายงานในที่ประชุม ศบค.ชุดเล็ก หลังจากผ่อนคลายมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในระบบ Thailand Pass ระหว่างวันที่ 29 เม.ย.-4 พ.ค. 65 มีผู้ลงทะเบียน 213,958 ราย อนุมัติแล้ว 202,878 ราย คิดเป็น 94.8% โดยจะตรวจเฉพาะใบรับรองการได้รับวัคซีน และการเช็คกรมธรรม์ประกันชีวิตเท่านั้น โดยจะเป็นการตรวจผ่านระบบ AI ทำให้สามารถอนุมัติได้รวดเร็ว ซึ่งการดำเนินการเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่มีความล่าช้าแต่อย่างใด

พญ.สุมนี กล่าวด้วยว่า นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข พร้อมด้วยผู้แทนองค์การอนามัยโลก (WHO) ประจำประเทศไทย ได้สรุปผลทบทวนเตรียมความพร้อม กรณีภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขและสุขภาพถ้วนหน้าเมื่อเช้านี้

โดยได้มีการถอดบทเรียนความสำเร็จการรับมือโควิด-19 ของประเทศไทย ซึ่งพบว่ามาจาก 5 ปัจจัยที่สำคัญ คือ 1.มีการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงของประเทศ 2.ระบบสาธารณสุขไทยมีความเข้มแข็งจากการที่ไทยมีระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และมีระบบปฐมภูมิมากว่า 40 ปี 3.มีความร่วมมือเชื่อมต่อการทำงานกับทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม รวมไปถึงระดับชุมชมด้วย 4.มีกระบวนการสร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชนและชุมชนอย่างต่อเนื่อง 5.มีการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม และการวิจัย เพื่อการตัดสินใจต่างๆบนพื้นฐานของข้อมูล

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก แจ้งว่า ยินดีให้การสนับสนุนและทำงานร่วมกับประเทศไทย และเตรียมแถลงประสบการณ์จากการประเมิน UHPR ในที่ประชุมสมัชชาอนามัยโลก ที่จะเกิดขึ้นในเดือนพฤษภาคมนี้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (05 พ.ค. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top