กกพ.จ่อเปิดรับซื้อโซลาร์ภาคประชาชนรอบใหม่ 2 กลุ่มรวม 20 MW ค่าไฟเดิมเริ่ม 30 ก.ย.

คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เตรียมออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าโครงการโซลาร์รูฟท็อป 2 กลุ่มได้แก่ โซลาร์ภาคประชาชน และโซล่าร์กลุ่มโรงเรียน สถานศึกษาโรงพยาบาลและสูบน้ำเพื่อการเกษตร โดยเปิดรับซื้อลดลงเหลือกลุ่มละ 10 เมกะวัตต์ จากเดิมรับซื้อ 50 เมกะวัตต์ พร้อมคงราคารับซื้อเดิม กลุ่มโซลาร์ภาคประชาชน รับซื้อ 2.20 บาทต่อหน่วย กลุ่มโรงเรียนฯ รับซื้อ 1 บาทต่อหน่วย สัญญา 10 ปี ระบุกลุ่มโรงเรียนฯ เริ่มเปิดรับซื้อ 30 ก.ย.65 นี้

ทั้งนี้ กกพ.จะออกประกาศเชิญชวนรับซื้อไฟฟ้าโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ใน 2 กลุ่ม คือ กลุ่มภาคประชาชนบ้านอยู่อาศัย และกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษาโรงพยาบาลและสูบน้ำเพื่อการเกษตร ทั้งนี้เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 9 มี.ค.65 ที่กำหนดให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา ประจำปี 2565 โดยที่ผ่านมา กกพ. ได้เปิดรับฟังความเห็นร่างประกาศเชิญชวนดังกล่าวไปแล้วเมื่อวันที่ 3 พ.ค.65

สำหรับการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภาคประชาชนนั้น กำหนดราคารับซื้อ 2.20 บาทต่อหน่วย โดยมีระยะเวลารับซื้อไฟฟ้า 10 ปี โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะรับซื้อรวม 10 เมกะวัตต์ แบ่งป็น การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) รับซื้อ 5 เมกะวัตต์ และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(PEA) รับซื้อ 5 เมกะวัตต์ เฉพาะประเภทบ้านอยู่อาศัยตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป ที่มีขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 10 กิโลวัตต์ กำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์(SCOD) ภายใน 270 วัน นับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า(PPA) โดยการไฟฟ้าจะรับซื้อในลักษณะมาก่อนได้ก่อน(First come First served)

ส่วนคุณสมบัติผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าดังกล่าว จะต้องเป็นผู้ผลิตไฟฟ้าประเภท 1 เฉพาะบ้านอยู่อาศัย, เป็นเจ้าของมิเตอร์ไฟฟ้า, ผู้ที่ผ่านการพิจารณาจะต้องติดต่อการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเพื่อเปลี่ยนเป็นมิเตอร์ดิจิทัลและชำระค่าใช้จ่ายในการเชื่อมระบบไฟฟ้า ทั้งนี้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะประกาศรายชื่อผู้ผ่านการพิจารณาภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันยื่นคำเสนอขอขายไฟฟ้าครบถ้วน

นอกจากนี้ กกพ.เตรียมออกประกาศเชิญชวนการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา สำหรับกลุ่มโรงเรียน สถานศึกษา โรงพยาบาล และสูบน้ำเพื่อการเกษตร ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งมากกว่า 10 กิโลวัตต์ แต่ไม่เกิน 200 กิโลวัตต์ โดยจะรับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในราคา 1 บาทต่อหน่วย มีระยะยเวลารับซื้อไฟฟ้าไม่เกิน 10 ปี และกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 270 วัน นับตั้งแต่วันที่ทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้า

อย่างไรก็ตามผู้ยื่นขอเสนอขายไฟฟ้าในกลุ่มนี้ จะต้องติดตั้งโซล่าร์เพื่อใช้เองเป็นหลักและขายส่วนที่เหลือได้ โดยการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะรับซื้อรวม 10 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น กฟน. 5 เมกะวัตต์ และ PEA 5 เมกะวัตต์ โดยเป็นการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบไม่บังคับปริมาณการซื้อขายไฟฟ้า(Non-Firm) และพิจารณาการรับซื้อแบบ First come, First served ทั้งนี้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเริ่มเปิดรับคำเสนอขอขายไฟฟ้าในวันที่ 30 ก.ย. 2565

ส่วนคุณสมบัติของผู้ขอเสนอขายไฟฟ้าจะต้องมีความพร้อมด้านที่ดิน, เทคโนโลยี, แหล่งเงินทุน และความพร้อมด้านการขออนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยต้องผลิตไฟฟ้าเข้าระบบภายใน 90 วัน นับถัดจากวันกำหนดให้ผลิตไฟฟ้าเข้าระบบ(SCOD) หากไม่ดำเนินการตามจะถูกบอกเลิกสัญญาต่อไป

อนึ่ง โครงการโซลาร์ภาคประชาชนรอบแรกเกิดขึ้นเมื่อปี 62 จำนวน 100 เมกะวัตต์ และรอบ 2 ปี 63 จำนวน 100 เมกะวัตต์ แต่มีผู้เข้าร่วมโครงการไม่ถึงเป้าหมาย โดยรวมทั้ง 2 รอบมีประชาชนสมัครรวมประมาณกว่า 400 ราย รวมกำลังการผลิตเพียง 3-4 เมกะวัตต์เท่านั้น เนื่องจากราคารับซื้อเดิมไม่จูงใจเพียง 1.68 บาทต่อหน่วย

ดังนั้น การเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชนในรอบที่ 3 ปี 64 จึงปรับราคารับซื้อเป็น 2.20 บาทต่อหน่วย และให้ผู้ร่วมโครงการฯ ที่เคยได้รับราคารับซื้อไฟฟ้า 1.68 บาทต่อหน่วยได้ปรับราคารับซื้อขึ้นเป็น 2.20 บาทต่อหน่วยแบบอัตโนมัติตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 64 เป็นต้นไป โดยรับซื้อรวม 50 เมกะวัตต์

ส่วนการเปิดรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ภาคประชาชน ปี 65 นี้จะเป็นรอบที่ 4 โดยราคารับซื้อยังคงไว้ที่ 2.20 บาทต่อหน่วย แต่ปรับลดเป้าหมายการรับซื้อลงเหลือเพียง 10 เมกะวัตต์ จากเดิมเคยเปิดรับซื้อ 50 เมกะวัตต์

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 พ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top