อนุสรณ์ ห่วงเฟดขึ้นดอกเบี้ยแรงฉุดสภาพคล่องโลก แนะไทยแทรกแซงค่าเงินหากบาทแตะ 35-36

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และอดีตคณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยว่า หากในการประชุมครั้งต่อไปของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 14-15 มิ.ย. 65 มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75% พร้อมกับการปรับลดงบดุล (Quantitative Tightening – QT) ฉุดสภาพคล่องในระบบการเงินโลก จะส่งผลทำให้เงินทุนระยะสั้นไหลออกจากตลาดการเงินไทย ทั้งตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรเพิ่มเติม และกดดันให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 35.50-36.50 บาทต่อดอลลาร์ได้

แต่หากเฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยเพียง 0.25-0.50% คงไม่ส่งผลต่อความผันผวนในตลาดการเงินของโลกและของไทยมากนัก การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางหลายประเทศตามธนาคารกลางสหรัฐฯ เป็นการแสดงถึงความวิตกกังวลต่อปัญหาเงินเฟ้ออย่างชัดเจน และเป็นการส่งสัญญาณถึงช่วงเวลาของอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นมาถึงแล้ว แม้เศรษฐกิจบางประเทศยังชะลอก็ตาม

นายอนุสรณ์ เห็นว่า ทางการไทยควรเข้าแทรกแซง เพื่อรักษาเสถียรภาพของค่าเงินบาทไม่ให้อ่อนค่าเร็วและแรงเกินไป แม้ว่าการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยสนับสนุนการส่งออกและการท่องเที่ยว แต่การอ่อนลงไปในระดับดังกล่าวในระยะเวลาอันสั้น จะทำให้ค่าครองชีพและอัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงมาก ในภาวะที่ราคาพลังงานและอาหารทรงตัวในระดับสูง ทำให้ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและธุรกิจขนาดย่อมขนาดเล็กปรับตัวไม่ทัน

“การใช้มาตรการ Open Market Operation แทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตรา ซื้อเงินบาท ขายดอลลาร์ น่าจะเพียงพอในการรักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า โดยยังไม่จำเป็นต้องปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด ในสถานการณ์เช่นนี้ ผู้ประกอบการที่เกี่ยวข้องกับธุรกรรมระหว่างประเทศ พึงตระหนักถึงความจำเป็นต้องบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และต้องบริหารความเสี่ยงการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศให้ดีในภาวะดอกเบี้ยขาขึ้น” นายอนุสรณ์ ระบุ

พร้อมมองว่า การปล่อยเงินเข้ามาในระบบจากการทำ QE 5 ล้านล้านดอลลาร์ และทำให้ราคาหุ้น ราคาคริปโต ราคาทองคำและสินค้าโภคภัณฑ์ปรับตัวสูงกว่าปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจมากๆ ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เวลาจะดูดเงินออกเพื่อชะลอฟองสบู่ก็ต้องทยอยทำด้วยความระมัดระวัง เพราะฟองสบู่อาจแตกรุนแรงได้ ที่หวังจะให้ Soft Landing ก็จะกลายเป็น Hard Landing แทน

การกู้เงินในโครงการต่างๆ และขยายกิจการอันเป็นผลจากภาพลวงตาของฟองสบู่ ก็อาจได้เวลาเห็นความเป็นจริงว่า โครงการต่างๆ หรือกิจการต่างๆ เหล่านี้ดีจริงหรือไม่ ภายใต้สถานการณ์ที่ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นจากระดับที่เคยต่ำมากๆ

“สินทรัพย์ทางการเงินที่น่าจะกระทบหนักสุด น่าจะเป็นคริบโทเคอร์เรนซีทั้งหลาย หากธนาคารกลางสหรัฐฯ ขึ้นดอกเบี้ยเดือน มิ.ย. 0.75% และดูดเงินออกจากระบบด้วยการทำ QT บิตคอยน์อาจหลุดลงไปต่ำกว่า 32,000 ดอลลาร์ต่อหนึ่งบิตคอยน์ได้ ส่วน Ethereum-E อาจปรับลดลงต่ำกว่า 2,400” นายอนุสรณ์ กล่าว

นายอนุสรณ์ ยังกล่าวต่อว่า กรณีของประเทศไทย หากการเปิดประเทศส่งผลให้เศรษฐกิจกระเตื้องขึ้น อุปสงค์มวลรวมขยายตัวเพิ่มขึ้นช่วงปลายปี คณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน (กนง.) อาจต้องเริ่มทบทวนการปรับเปลี่ยนทิศทางของอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หากอัตราเงินเฟ้อปรับตัวสูงกว่ากรอบเป้าหมายทางนโยบายด้านบนมากๆ แต่เชื่อมั่นว่าประเทศไทยจะไม่เผชิญปัญหาเงินเฟ้อรุนแรงเหมือนบางประเทศ

อย่างไรก็ตาม รัฐบาลต้องเข้าแทรกแซงราคาพลังงานหากราคาน้ำมันเบนซินสูงเกินกว่า 50-55 บาทต่อลิตร และราคาดีเซลเกินกว่า 35-40 บาทต่อลิตร ส่วนการเก็บภาษีธุรกิจแพลตฟอร์มของบรรษัทข้ามชาติควรดำเนินการให้เร็วที่สุด เพื่อนำรายได้ส่วนนี้มาส่งเสริมให้เกิด Digital Transformation ในประเทศ ขณะเดียวกัน สนับสนุนการลดภาษีรถยนต์ EV แต่ขอให้ดำเนินการอย่างระมัดระวัง เพื่อเลี่ยงผลกระทบต่อกิจการอุตสาหกรรมรถยนต์และชิ้นส่วนยานยนต์ที่ยังคงใช้เทคโนโลยีแบบเดิม ซึ่งเป็นฐานการจ้างงานและฐานการผลิตเพื่อส่งออกขนาดใหญ่ของไทยตลอดช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า การอ่อนตัวของค่าเงิน และราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง ผลกระทบจากสงครามยูเครน และการชะงักงันของห่วงโซ่อุปทาน จะทำให้ภาคธุรกิจอุตสาหกรรมมีต้นทุนการผลิตสูงขึ้นอย่างมาก โดยภาคผลิตภาคบริการที่ได้รับผลกระทบหนัก ได้แก่ ภาควัสดุก่อสร้าง ภาคอสังหาริมทรัพย์ ภาคโลจิสติกส์และการขนส่ง ภาคยานยนต์ ภาคบรรจุภัณฑ์และผลิตภัณฑ์พลาสติก กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ภาคสาธารณูปโภค เป็นต้น

ผลการดำเนินงานและกำไรของกลุ่มบริษัทเหล่านี้ในตลาดหลักทรัพย์ในไตรมาส 2 ไตรมาส 3 จะลดลง หากรัฐบาลไม่สามารถสกัดการพุ่งขึ้นของราคาสินค้าและบริการต่างๆ ได้ จะส่งผลกระทบต่อครอบครัวผู้มีรายได้น้อย ข้าราชการชั้นผู้น้อย แรงงานรับจ้างอิสระนอกระบบ ผู้ค้ารายย่อย และมีแนวโน้มยากที่จะรับมือต่อภาวะค่าครองชีพพุ่งสูงได้ จำเป็นต้องก่อหนี้เพิ่ม

ปัจจัยเงินเฟ้อสูงกดดันต่อปัญหาหนี้ครัวเรือน ตัวเลขล่าสุดของสินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อส่วนบุคคล ยังคงขยายตัวสูงจากการกู้ยืมมาเพื่อทดแทนสภาพคล่องจากรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่ฟื้นตัว คาดหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีอาจทะลุระดับ 100 ได้ในช่วงปลายปีหากเศรษฐกิจขยายตัวต่ำกว่า 3% การช่วยเหลือทางด้านสวัสดิการต่างๆ เพื่อลดรายจ่ายของประชาชน จำเป็นต้องทำให้ทั่วถึงครอบคลุมผู้เดือดร้อนทางเศรษฐกิจ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 พ.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top