กษ.เผยบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 64/65 ได้ตามแผน เดินหน้ารับมือฤดูฝนเต็มศักยภาพ

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการบริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 และการเตรียมรับมือฤดูฝน ปี 65 ว่า กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 30 เม.ย. 65 โดยมีการจัดสรรน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ การเกษตร รวมไปถึงการควบคุมค่าความเค็มในแม่น้ำสายหลักต่างๆ เป็นไปตามแผนที่วางไว้อย่างเพียงพอตลอดฤดูแล้ง โดยปฏิบัติตามมาตรการรองรับสถานการณ์การขาดแคลนน้ำฤดูแล้งปี 2564/65 ทั้ง 8 มาตรการอย่างครบถ้วน อีกทั้งยังมีปริมาณน้ำสำรองน้ำไว้ใช้ในช่วงต้นฤดูฝนปี 65 ด้วย

สำหรับการจัดสรรน้ำในภาพรวมทั้งประเทศ พบว่า มีการใช้น้ำไปทั้งสิ้น 23,000 ล้าน ลบ.ม. (แผนจัดสรรน้ำทั้งประเทศจัดสรรไว้รวมทุกกิจกรรม 22,280 ล้าน ลบ.ม. สำรองน้ำต้นฤดูฝน 15,557 ล้าน ลบ.ม.) เกินแผนที่ตั้งไว้เล็กน้อย ด้านผลการเพาะปลูกฤดูแล้งทั้งประเทศ มีการเพาะปลูกรวมกว่า 8.11 ล้านไร่ (จากแผนที่วางไว้ 6.41 ล้านไร่)

ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าปีนี้กรมชลประทานส่งน้ำเกินแผนไปประมาณ 700 ล้าน ลบ.ม. ทำให้เกษตรกรสามารถทำการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งได้อีก 1.7 ล้านไร่ ซึ่ง 2-3 ปีก่อนหน้านี้ ได้ขอความร่วมมือเกษตรกรให้ชะลอการทำนาปรัง เนื่องจากมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอ แต่ในฤดูแล้งที่ผ่านมา กรมชลประทาน สามารถบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ได้อย่างเต็มศักยภาพ ด้วยการจัดสรรน้ำอย่างประณีต ทำให้เกษตรกรในเขตชลประทานมีรายได้จากการเพาะปลูกพืช

ส่วนน้ำสำรองต้นฤดูฝนที่คาดการณ์ไว้ว่าจะต้องสำรองประมาณ 15,557 ล้าน ลบ.ม. ปรากฏว่าในวันเริ่มต้นฤดูฝน วันที่ 1 พ.ค. 65 มีน้ำต้นทุนอยู่ 19,950 ล้าน ลบ.ม. มากกว่าที่คาดการณ์ไว้ 4,393 ล้าน ลบ.ม. ถือว่าเป็นกำไร นอกจากนี้ ยังได้ดำเนินโครงการจ้างแรงงานชลประทานเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในช่วงฤดูแล้ง ที่จนถึงขณะนี้มีการจ้างงานไปแล้วกว่า 74,000 คน

ในส่วนของแผนการจัดสรรน้ำและการเพาะปลูกพืชฤดูฝนปี 65 กรมชลประทาน ได้วางแผนบริหารจัดการน้ำ โดยส่งเสริมการปลูกพืชฤดูฝนให้ใช้น้ำฝนเป็นหลัก และใช้น้ำชลประทานเสริมกรณีฝนทิ้งช่วง หรือปริมาณฝนตกน้อยกว่าคาดการณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยา

นอกจากนี้ ที่สำคัญได้วางแผนบริหารจัดการน้ำภายใต้มาตรการรับมือฤดูฝนปี 65 ทั้ง 13 มาตรการ ตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 3 พ.ค. 65 โดยได้เตรียมการรับมือปัญหาอุทกภัย ด้วยการกำหนดวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำ ปริมาณน้ำในลำน้ำ กำหนดคน กำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ต่างๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบ รวมทั้งประสานงานกับหน่วยงานจังหวัด ให้ร่วมกันติดตามและวิเคราะห์หรือคาดการณ์สถานการณ์น้ำในลำน้ำ การจัดสรรทรัพยากร เช่น เครื่องสูบน้ำ เครื่องจักรกล รถขุด รถแทรกเตอร์ หรือเครื่องมือต่างๆ ให้พร้อมใช้งานได้ตลอดเวลา

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า กรมชลประทาน มีความมุ่งมั่นตั้งใจ ที่จะบริหารจัดการน้ำอย่างเต็มศักยภาพ เพื่อให้ประชาชนและเกษตรกรได้มีน้ำใช้ในทุกกิจกรรมตลอดทั้งปีตามศักยภาพที่มีอยู่ และสิ่งสำคัญที่มุ่งเน้นนอกเหนือจากการบริหารจัดการน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพแล้ว ยังมุ่งหวังให้สามารถบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนให้ได้มากที่สุดด้วย ซึ่งปัจจัยสำคัญคือบุคคลากรและเครื่องไม้เครื่องมือ ที่จะต้องมีความพร้อมตลอดเวลา

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (09 พ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top