ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าเม.ย.ลดทุกภาค กังวลค่าครองชีพ-น้ำมันแพง จับตาการจ้างงาน

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือนเม.ย. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 25-29 เม.ย. 65 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 35.4 ลดลงจากระดับ 35.5 ในเดือนมี.ค. 65

โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

– กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 34.5 ลดลงจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 34.7

– ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 36.6 ลดลงจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 36.7

– ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 39.0 ลดลงจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 39.1

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 35.5 ลดลงจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 35.7

– ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 34.7 ลดลงจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 34.9

– ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 33.2 ลดลงจากเดือนมี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 33.3

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน เม.ย. 65 มีดังนี้

  • ปัจจัยลบ ได้แก่

1. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในประเทศไทย โดยเฉพาะไวรัสสายพันธุ์ใหม่ “โอมิครอน” ที่มีการแพร่ระบาด

2. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ปรับลดคาดการณ์อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ไทยในปี 65 อยู่ที่ 3.5%

3. ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวเพิ่มขึ้น โดยแก๊สโซฮอล ออกเทน 91 และแก๊สโซฮอล ออกเทน 95 ปรับตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 0.20 บาทต่อลิตร และราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกในประเทศ ยังคงทรงตัวเท่ากับเดือนที่ผ่านมา

4. SET Index เดือน เม.ย. 65 ปรับตัวลดลง 27.8 จุด จาก 1,695.24 ณ สิ้นเดือน มี.ค. 64 เป็น 1,667.44 ณ สิ้นเดือน เม.ย. 65

5. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อยจากระดับ 33.252 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน มี.ค. 65 เป็น 33.821 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน เม.ย. 65

  • ปัจจัยบวก ได้แก่

1. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางเข้าประเทศไทย โดยยกเลิก Test & Go ปรับมาใช้การลงทะเบียนผ่าน Thailand Pass มีผลตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 65

2. การส่งออกของไทยเดือน มี.ค. 65 ขยายตัว 19.5% มูลค่าอยู่ที่ 28,859.63 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัว 18.0% มีมูลค่าอยู่ที่ 27,400.55 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าเกินดุล 1,459.08 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

3. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น หรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะข้าว ปาล์มน้ำมัน ยางพารา มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

สำหรับข้อเสนอแนะต่อภาครัฐในการแก้ไขปัญหา มีดังนี้

1. มาตรการดูแลค่าครองชีพ และภาระค่าใช้จ่ายของภาคประชาชน รวมถึงภาคธุรกิจในการดำเนินกิจการ

2. แนวทางในการดูแลนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในประเทศ จากการปรับเปลี่ยนมาตรการในการเข้าประเทศสำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ

3. แนวทางการดูแลสินค้าส่งออกของไทยที่ติดปัญหา ไม่สามารถส่งออกไปยังปลายทางได้

4. การกระตุ้นประชาชนให้ทยอยฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้มากขึ้น เพื่อให้มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัสได้มากขึ้น

ด้านนายธนวรรธน์ พลวิชัย ประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า จากผลสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ ทำให้มีข้อสังเกตว่า แม้ขณะนี้การจ้างงานยังนิ่ง ยังไม่มีการปลดคนงาน แต่จะเริ่มเห็นภาคธุรกิจตอบว่าการจ้างงานเริ่มแย่ลง จากกลุ่มตัวอย่างกว่า 40% ซึ่งหมายความว่าสถานการณ์มีความเสี่ยงพอสมควรที่ธุรกิจอาจจะปลดคนงานได้ในอนาคต เพียงแต่ยังไม่มีสัญญาณที่จะเกิดขึ้นในตอนนี้

พร้อมคาดว่า ในไตรมาส 2 ความเชื่อมั่นผู้บริโภคจะต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ ประกอบกับกำลังซื้อและการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนจะมีสัญญาณชะลอตัวชัดเจน ดังนั้นรัฐบาลควรกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการทำโครงการคนละครึ่ง เราเที่ยวด้วยกัน ดูแลราคาพลังงาน การเปิดประเทศเพื่อรับนักท่องเที่ยวให้มีความคล่องตัว รวมทั้งการประกาศให้โควิดเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งจะมีส่วนช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และเพิ่มเม็ดเงินเข้ามาหมุนเวียนในระบบได้มากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (10 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top