Power of The Act: การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืนด้วยการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน

ความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมและการใช้พลังงาน

ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้ให้นิยามของ “ความเสี่ยงด้านความยั่งยืน” ว่าเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับประเด็นด้าน ESG หรือสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) หรือเรียกว่า ESG Risk ซึ่งเป็นความท้าทายที่องค์กรจะต้องหาวิธีการบริหารจัดการความเสี่ยง เพื่อสร้างโอกาส และลดความเสี่ยง ซึ่งมีผลต่อความสามารถในการสร้างผลกำไร การแข่งขันภาพลักษณ์ ชื่อเสียง และความอยู่รอดขององค์กร

“ความเสี่ยง” (risk) นิยามได้ว่าเป็นความเป็นไปได้ (probability) ของเหตุการณ์ที่เป็นอันตราย เช่น ความตาย ความเสียหายของทรัพย์สิน การสูญเสียความเป็นอยู่ การหยุดชะงักของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และผลเสียหายต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นผลจากปฏิสัมพันธ์ต่าง ๆ ระหว่างภัยธรรมชาติ หรือภัยที่มนุษย์ก่อขึ้น และสภาพที่ก่อภัย (vulnerable conditions)

เมื่อพิจารณานิยามของความเสี่ยงข้างต้น สามารถกล่าวได้ว่า การผลิต ส่ง จำหน่าย และใช้ไฟฟ้า ล้วนมีความเกี่ยวข้องและอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงด้านความยั่งยืนได้ เช่น การเผาเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ (fossil fuel) เพื่อผลิตไฟฟ้าอาจก่อให้เกิดมลพิษทางอากาศ และอาจส่งให้ผู้ผลิตไฟฟ้ากลายเป็นผู้ก่อมลพิษที่ต้องรับผิดทางกฎหมายได้

ขณะที่การก่อสร้างและใช้งานระบบส่งและจำหน่ายไฟฟ้าอาจส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและก่อมลพิษอันนำมาซึ่งความรับผิดทางกฎหมายได้เช่นกัน หรือแม้จะยังไม่มีการฟ้องร้องดำเนินคดีทางกฎหมาย การที่ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้าถูกชุมชนต่อต้านเนื่องจากความกังวลด้านสิ่งแวดล้อมย่อมส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ขององค์กรได้ หรือแม้กระทั่งการใช้ไฟฟ้าที่อาศัยการเผาเชื้อเพลิงจากซากดึกดำบรรพ์ก็ย่อมมีส่วนในการสร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเช่นกัน

ผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่ (energy user) ไม่ได้เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าด้วยตัวเอง จึงอาจเข้าใจไปว่าตนเองไม่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากการใช้ไฟฟ้า เช่น หากการผลิตไฟฟ้าก่อมลพิษทางอากาศ คนที่ต้องรับผิดทางกฎหมายย่อมได้แก่ผู้ผลิตไฟฟ้า ซึ่งอาจถูกผู้เสียหายฟ้องให้รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้

อย่างไรก็ตาม ความเข้าใจดังกล่าวอาจมีความคาดเคลื่อนและส่งผลให้การบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืนมีข้อจำกัด

ประเมินความเสี่ยงอย่างไร?

พลังงาน เป็นองค์ประกอบสำคัญประการหนึ่งในการประกอบธุรกิจและเป็นต้นทุนที่สำคัญประการหนึ่งในการประกอบการ ในขณะเดียวกันการใช้พลังงานย่อมส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมได้

การประเมินความเสี่ยง (risk assessment) ซึ่งเป็นกระบวนการในการพิจารณาลักษณะและขอบเขตของความเสี่ยง โดยวิเคราะห์ถึงภัยและประเมินสภาพที่ก่อภัยซึ่งเมื่อรวมกันแล้วมีโอกาสก่อภัยต่อผู้คน ทรัพย์สิน การบริการ ความเป็นอยู่ และสิ่งแวดล้อมที่ตนพึ่งพาอยู่ ผู้ประกอบกิจการไฟฟ้า เช่น ผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้า ย่อมอาศัยหลักเกณฑ์ข้างต้นเพื่อประเมินความเสี่ยงว่าการประกอบกิจการของตนก่อผลกระทบต่อความเป็นอยู่และสุขอนามัยของชุมชนรอบโรงไฟฟ้าหรือไม่เพียงใด และมีความเสี่ยงหรือไม่ที่บุคคลที่อาศัยอยู่รอบโรงไฟฟ้าจะได้รับความเดือดร้อนเสียหายจากการประกอบกิจการของตน

นอกจากนี้ หลักเกณฑ์ข้างต้นแล้วการประเมินความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมในมิติของการใช้พลังงานยังสามารถดำเนินการโดย “ผู้ใช้ไฟฟ้า” ได้โดยการพิจารณาถึงความเสี่ยงของบริษัทอันเป็นผลจากปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อมซึ่งมุ่งที่จะตอบให้ข้อมูลสถิติเกี่ยวกับเหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมที่นักลงทุนและผู้ถือหุ้นควรจะได้รู้ เช่น บริษัทซึ่งใช้ไฟฟ้าในปริมาณมากเพื่อใช้งานระบบการประมวลผลหรือฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ย่อมมิอาจหลีกเลี่ยงต้นทุนการประกอบการอันเกิดจากค่าไฟฟ้าที่ต้องชำระให้กับผู้จำหน่ายไฟฟ้าได้ หากค่าไฟฟ้าสูงขึ้นต้นทุนในการประกอบธุรกิจของผู้ใช้ไฟฟ้าก็ย่อมสูงขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ยกตัวอย่างเช่น หากเชื้อเพลิงที่ใช้ในกระบวนการผลิตไฟฟ้ามีราคาสูงขึ้นเนื่องจากทรัพยากรมีจำนวนน้อยลง ต้นทุนพลังงานต่อหน่วยในการผลิตไฟฟ้าก็ย่อมสูงขึ้น ทั้งนี้ ประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเรื่อง กรอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า (Electricity Tariff Regulatory Framework) พ.ศ.2564 ได้กำหนดเอาไว้ว่าค่าเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าถือเป็นค่าใช้จ่ายดำเนินการ (Operation Expense) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรายได้พึงได้สูงสุด (Maximum Allowed Revenue) ที่ผู้รับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าจะได้รับ

ดังนั้น การประเมินความเสี่ยงในมิติที่สองกล่าวคือการพิจาณาว่าผู้ใช้ไฟฟ้าอาจมีต้นทุนในการประกอบการที่เพิ่มขึ้นจากเหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมจึงไม่ได้จำกัดเพียงการดูว่าเราก่อผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างไร แต่จะดูว่าเหตุการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมส่งผลกระทบต่อการประกอบการอย่างไรด้วย

ประหยัดการใช้พลังงานเพียงพอหรือไม่?

ผู้ใช้พลังงาน จึงเป็นทั้งผู้มีความเสี่ยงด้านความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมในมิติของการใช้พลังงาน ผู้ถือหุ้นหรือบุคคลที่มีแนวโน้มจะลงทุนในบริษัทย่อมประสงค์ที่จะรู้ว่าโรงงานควบคุมนี้จะบริหารจัดการและลดความเสี่ยงที่ค่าไฟฟ้าอาจแพงขึ้นในอนาคตอย่างไร การดำเนินการดังกล่าวควรจะเป็นสิ่งที่จับต้องได้ อาจจะมีรายละเอียดที่ครอบคลุมนโยบายอนุรักษ์พลังงาน เป้าหมายและแผนอนุรักษ์พลังงาน และวิธีการจัดการพลังงาน

ผู้ใช้พลังงานซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอาจระบุในแบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ว่าบริษัทมีเป้าหมายเพื่อสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) (เป้าหมายที่ 12 เรื่องการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน (responsible consumption and production) บริษัทมีเป้าหมายที่จะลดการใช้พลังงานในปริมาณเท่าใด (โดยแสดงวิธีการคิดคำนวณ) และอาจจะบุว่าบริษัทได้ดำเนินการทบทวนนโยบาย ปรับปรุงกระบวนการทำงาน ตลอดจนพัฒนาโครงการและความคิดริเริ่มในหลากหลายรูปแบบที่ส่งเสริมให้พนักงานได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการช่วยบรรเทาผลกระทบสิ่งแวดล้อม ในเรื่องการใช้ทรัพยากรอย่างยั่งยืนตามหลักประสิทธิภาพเชิงนิเวศเศรษฐกิจ (Eco-efficiency)

นอกจากนี้ แบบแสดงรายการข้อมูลประจำปี/รายงานประจำปี (แบบ 56-1 One Report) ยังอาจระบุถึงมาตรการที่บริษัทรณรงค์ให้พนักงานลดการใช้พลังงานลง เช่น ปรับเวลาเปิดและปิดเครื่องปรับอากาศทุกอาคาร ปิดไฟภายในอาคารและลานจอดรถในเวลาที่กำหนด และเปิดเท่าที่จำเป็น รณรงค์ปิดไฟห้องประชุม และถอดสายอุปกรณ์ไฟฟ้าเมื่อไม่ใช้งาน โดยอาจมีการประมาณการณ์ว่าการรณรงค์ดังกล่าวจะมีส่วนช่วยลดค่าใช้จ่ายจากการใช้พลังงานเป็นจำนวนเท่าใดต่อปี

อย่างไรก็ตาม การลดการใช้พลังงานอาจไม่ได้เป็นเพียงแนวทางในการบริการจัดการการใช้พลังงานเพียงแนวทางเดียว เนื่องจากกรณีย่อมมีความเป็นไปได้ที่บริษัทอาจใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เช่น บริษัทลดการใช้กระดาษในการสื่อสารภายในองค์กรโดยเปลี่ยนเป็นการใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์แทน หรือบริษัทได้เปลี่ยนรถยนต์เครื่องสันดาปเพื่อการขนส่งสินค้าทั้งหมดของบริษัทเป็นยานยนต์ไฟฟ้า (electric vehicle) การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการประกอบธุรกิจ แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น

ดังนั้น เพื่อให้ธุรกิจยังคงดำเนินต่อไปได้อย่างยั่งยืน ผู้ประกอบธุรกิจซึ่งตระหนักถึงความเสี่ยงด้านความยั่งยืนอาจจะต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการความเสี่ยงแนวทางอื่นประกอบกับการลดการใช้พลังงาน

ใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียนโดยไม่ผลิตเองได้หรือไม่?

องค์กรธุรกิจซึ่งมีแผนการประกอบธุรกิจซึ่งจะต้องมีการใช้ไฟฟ้าในปริมาณมากแต่ขณะเดียวกันก็ประสงค์ที่จะใช้ไฟฟ้าอย่างยั่งยืนและลดความเสี่ยงที่ต้นทุนในการประกอบธุรกิจจะเพิ่มสูงขึ้นจากอัตราค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้นในอนาคตอาจเลือกที่จะผลิตไฟฟ้าจากทรัพยากรพลังงานหมุนเวียน เช่น ติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ของระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคาและใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากแผงโซลาร์ที่ตนติดตั้งดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม องค์กรธุรกิจบางองค์กรอาจไม่ประสงค์ที่จะติดตั้งและผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ด้วยตัวเอง เนื่องจากขาดประสบการณ์และความเชี่ยวชาญทางเทคนิค ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำถามตามมาว่าแล้วองค์กรธุรกิจนี้จะทำอย่างไรให้ตนมี “ไฟฟ้าสะอาด” ใช้?

หนึ่งในคำตอบก็คือ “ซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน” ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบในการติดตั้งและใช้งานแผงโซลาร์ในบริเวณสำนักงานและอาคารของตน โดยผ่านสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชน (Private Power Purchase Agreement) สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในกรณีนี้มิใช่สัญญาที่ผู้ผลิตทำสัญญาขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (เช่น การไฟฟ้านครหลวง หรือ การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ตามประกาศการรับซื้อไฟฟ้าที่ออกโดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน และมิใช่การทำสัญญาซื้อขายไฟฟ้าให้ผู้ใช้ไฟฟ้าอื่นที่อยู่รอบ ๆ แผงโซลาร์ แต่เป็นสัญญาซื้อขายที่ผลิตได้ให้กับผู้รับซื้อไฟฟ้าโดยเฉพาะ

สัญญาซื้อขายไฟฟ้าในกรณีนี้มีสาระสำคัญ คือ กำหนดปริมาณขั้นต่ำของไฟฟ้าที่ผลิตได้จากแผงโซลาร์ในบริเวณสำนักงานและอาคาร ระยะเวลาการรับซื้อ อัตราราคารับซื้อไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยให้เห็นว่าการซื้อไฟฟ้าในรูปแบบนี้ช่วยให้องค์กรธุรกิจลดการใช้ไฟฟ้าที่ผลิตจากเชื้อเพลิงซากดึกดำบรรพ์ไปเป็นจำนวนเท่าใด และช่วยลดต้นทุนในการประกอบกิจการไปเป็นจำนวนเท่าใด (เมื่อไฟฟ้าที่ผลิตนี้มีราคาถูกกว่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายเรียกเก็บ) จะเห็นได้ว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนในลักษณะนี้ย่อมมีส่วนช่วยในการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านความยั่งยืนในมิติของการบริหารจัดการพลังงานได้

อย่างไรก็ตาม กรณีมีข้อสังเกตว่าสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนในกรณีนี้ ยังจะต้องมีเงื่อนไขและข้อตกลงอีกหลายข้อ เช่น การดำเนินการก่อนเริ่มดำเนินการซื้อขายไฟฟ้า หน้าที่ของผู้องค์กรธุรกิจในการจัดหาสถานที่ติดตั้งแผงโซลาร์ เงื่อนไขในการชำระค่าตอบแทน เหตุผิดสัญญา หน้าที่ของคู่สัญญาในการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง

รายละเอียดเหล่านี้จะได้มีการเสนอต่อไปในบทความครั้งหน้า

อ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ

ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law) หลักสูตรนานาชาติ

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top