เอเชียผิดหวังสหรัฐล่าช้าผลักดันข้อตกลงการค้า คาดกระทบความพยายามต้านจีน

บรรดาประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างแสดงความผิดหวังกับสหรัฐมากขึ้น หลังจากคณะบริหารของประธานาธิบดีโจ ไบเดนไม่มีความคืบหน้าในการผลักดันข้อตกลงการค้า ซึ่งความผิดหวังดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อความพยายามของปธน.ไบเดนในการเสริมสร้างความสัมพันธ์กับบรรดาผู้นำกลุ่มประเทศเอเชียในการประชุมสุดยอดซึ่งจะจัดขึ้นที่กรุงวอชิงตันในสัปดาห์นี้

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ที่ผ่านมานั้น คณะบริหารของปธน.ไบเดนได้ย้ำถึงความสำคัญของภาวะผู้นำของสหรัฐในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งการสร้างความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นเพื่อรับมือกับอิทธิพลของจีน แต่ในประเด็นที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งประเด็นข้อตกลงการค้าเสรีนั้น สหรัฐกลับไม่ได้แสดงให้เห็นถึงความคืบหน้า

ทั้งนี้ สหรัฐได้ริเริ่มนโยบายกรอบเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific Economic Framework: IPEF) ซึ่งมีเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคเอเชีย รวมทั้งสนับสนุนการสร้างโครงสร้างพื้นฐานและอื่น ๆ แต่นับจนถึงขณะนี้ยังไม่มีรายละเอียดที่ชัดเจน และคณะบริหารของปธน.ไบเดนก็ย้ำว่า นโยบายดังกล่าวจะไม่รวมถึงการปรับลดภาษีนำเข้าหรือการเปิดทางให้สินค้าเอเชียเข้าสู่ตลาดสหรัฐได้สะดวกขึ้น

ในทางกลับกัน สิ่งที่สหรัฐให้ความสำคัญมากเป็นอันดับแรกในเอเชียคือการกระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความพยายามที่จะรับมือกับอิทธิพลของจีน ทั้งที่ความจริงแล้ว ผู้นำประเทศในเอเชียแทบไม่ได้ต้องการให้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐและจีนเพิ่มขึ้น

นายลี เซียนลุง นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ได้เรียกร้องให้ทั้งสองประเทศยุติความขัดแย้งระหว่างกัน และให้หันมามุ่งเน้นด้านการค้ามากขึ้น ขณะที่นายเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของฟิลิปปินส์กล่าวว่า ฟิลิปปินส์จะไม่ดำเนินการตามชาติมหาอำนาจ แต่จะกำหนดนโยบายต่างประเทศของตัวเอง

นายทอมมี โกะห์ เจ้าหน้าที่ทูตระดับสูงของสิงคโปร์และอดีตทูตสิงคโปร์ประจำสหรัฐเปิดเผยในการประชุมสมาคมอเมริกันในสิงคโปร์ว่า “ท่านให้ความสนใจภูมิภาคเอเชียด้วยการจดจ่ออยู่ที่ความมั่นคงประเด็นเดียว แต่ชาวเอเชียจำเป็นต้องพึ่งพาการค้าในการดำรงชีพ”

สำหรับความเคลื่อนไหวล่าสุดที่สหรัฐมีต่อจีนนั้น ปธน.ไบเดนเปิดเผยเมื่อวันพุธ (11 พ.ค.) ว่า ทำเนียบขาวกำลังทบทวนมาตรการเก็บภาษีนำเข้าสินค้าจากจีนซึ่งอดีตปธน.โดนัลด์ ทรัมป์เคยบังคับใช้ และมีแนวโน้มที่จะยกเลิกทั้งหมด โดยมีเป้าหมายที่จะสกัดการพุ่งขึ้นของราคาผู้บริโภคในสหรัฐ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (12 พ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top