พาณิชย์ ไฟเขียวต่างชาติทำธุรกิจในไทยเม.ย. 50 ราย ลดลงจากมี.ค.65

นายสินิตย์ เลิศไกร รมช.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ในเดือนเม.ย. 65 คณะกรรมการการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาลงทุนประกอบธุรกิจในประเทศไทย จำนวน 50 ราย ลดลง 6% จากเดือนก่อน แบ่งเป็นใบอนุญาตประกอบธุรกิจ จำนวน 20 ราย และหนังสือรับรองประกอบธุรกิจ จำนวน 30 ราย โดยมีเม็ดเงินลงทุนทั้งสิ้น 9,997 ล้านบาท ลดลง 8% จากเดือนก่อน

สำหรับธุรกิจที่ได้รับอนุญาตเดือนเม.ย. 65 ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่สอดคล้องกับนโยบายส่งเสริมการลงทุนของภาครัฐ อันจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย อาทิ

– กิจการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยเป็นผู้ให้บริการระบบฝากซื้อขายสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ ผ่านเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน

– บริการให้ใช้ช่วงสิทธิในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (Software) ด้านการธนาคาร ด้านการเงิน และด้านการประกันภัย

– บริการทางวิศวกรรมและเทคนิค เช่น การให้คำปรึกษาเชิงเทคนิคแบบครบวงจรในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ การช่วยเหลือด้านการออกแบบ การพัฒนา และทดสอบระบบ เป็นต้น

– บริการรับจ้างผลิตเฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

ส่วนการลงทุนในพื้นที่ EEC ของนักลงทุนต่างชาติ ในเดือนเม.ย. 65 นี้ นักลงทุนต่างชาติสนใจลงทุนในพื้นที่ EEC จำนวน 15 ราย คิดเป็น 30% ของจำนวนนักลงทุนทั้งหมดในเดือนนี้ โดยมีเงินลงทุนในพื้นที่ EEC กว่า 2,666 ล้านบาท คิดเป็น 27% ของเงินลงทุนทั้งหมด

ทั้งนี้ เป็นนักลงทุนจากญี่ปุ่น 7 ราย ลงทุน 1,057 ล้านบาท สหรัฐอเมริกา 2 ราย ลงทุน 356 ล้านบาท และ สิงคโปร์ 1 ราย ลงทุน 121 ล้านบาท ธุรกิจที่ลงทุน อาทิ 1. บริการตรวจสอบและวิเคราะห์สภาพการทำงานของเครื่องจักรชนิดหมุน โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Services) ด้วยระบบคลาวด์ (Cloud) และเทคโนโลยีเซ็นเซอร์ (Sensor Technology) 2. บริการรับจ้างตัดเหล็กเคลือบเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตกระป๋องบรรจุอาหารและเครื่องดื่ม และ 3. บริการรับจ้างผลิตเฟอร์นิเจอร์ ชิ้นส่วนเฟอร์นิเจอร์ เป็นต้น

อย่างไรก็ดี การอนุญาตให้ประกอบธุรกิจในครั้งนี้ จะมีผลให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอันเป็นวิทยาการซึ่งเป็นองค์ความรู้ในแขนง ที่คนไทยยังไม่มีความชำนาญหรือมีความเชี่ยวชาญในระดับที่ไม่สูงมากนัก เช่น องค์ความรู้เกี่ยวกับการปฏิบัติงานในพื้นที่ซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ องค์ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีรายละเอียดและคุณสมบัติ และการใช้งานเครื่อง Machining Center สำหรับการผลิตชิ้นงานเครื่องจักรกลไฟฟ้า และองค์ความรู้เกี่ยวกับวิธีการควบคุมและการใช้งานไร้สายของระบบ Optime ผ่านแอปพลิเคชันในมือถือและผ่านระบบคอมพิวเตอร์ เป็นต้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (17 พ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top