ตลาดหุ้นเอเชียปิดเช้าร่วง หวั่นเศรษฐกิจถดถอย-หุ้นเทคโนฯร่วงฉุดตลาด

ตลาดหุ้นเอเชียปิดภาคเช้าในแดนลบ ตามทิศทางตลาดหุ้นสหรัฐที่ร่วงลงอย่างหนักเมื่อคืนนี้ (18 พ.ค.) เนื่องจากนักลงทุนกังวลว่าภาวะเงินเฟ้อในสหรัฐเริ่มส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของบริษัทค้าปลีก นอกจากนี้ ตลาดบางแห่งในภูมิภาคยังถูกดดันจากหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีที่ร่วงลงอย่างหนัก

ดัชนี NIKKEI 225 ตลาดหุ้นญี่ปุ่นปิดภาคเช้าที่ระดับ 26,238.40 จุด ร่วงลง 672.80 จุด หรือ -2.50%, ดัชนี HSI ตลาดหุ้นฮ่องกงปิดภาคเช้าที่ 20,179.30 จุด ลดลง 464.98 จุด หรือ -2.25% และดัชนี SSE Composite ตลาดหุ้นจีนปิดภาคเช้าที่ 3,083.39 จุด ลดลง 2.58 จุด หรือ -0.08%

ภาวะการซื้อขายในภูมิภาคถูกกดันหลังหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียักษ์ใหญ่ในฮ่องกงร่วงลง 5% ในช่วงเปิดตลาดวันนี้ โดยเฉพาะหุ้นเทนเซ็นต์ที่ดิ่งลงกว่า 7% หลังบริษัทเผยผลประกอบการขยายตัวต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ โดยบริษัทมีรายได้อยู่ที่ 1.355 แสนล้านหยวน (2.008 หมื่นล้านดอลลาร์) ในไตรมาสแรกของปีนี้ เพิ่มขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ 1.353 แสนล้านหยวน และยังต่ำกว่าประมาณการของตลาด เนื่องจากได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว รวมถึงการที่รัฐบาลระงับการออกใบอนุญาตเกมใหม่ ๆ

นอกจากนี้ นักลทุนยังซึมซับรายงานที่ว่า ทาร์เก็ต ซึ่งเป็นบริษัทค้าปลีกรายใหญ่ของสหรัฐเปิดเผยว่า กำไรต่อหุ้นในไตรมาส 1/2565 ลดลงสู่ระดับ 2.19 ดอลลาร์ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 3.07 ดอลลาร์ เนื่องจากผลกระทบของปัญหาห่วงโซ่อุปทาน รวมทั้งต้นทุนเชื้อเพลิงและค่าขนส่งที่สูงขึ้น นอกจากนี้ บริษัทยังต้องปรับลดราคาสินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันกับบรรดาคู่แข่งในตลาดได้

พอล คริสโตเฟอร์ นักวิเคราะห์จากบริษัทเวลส์ ฟาร์โก อินเวสต์เมนท์กล่าวว่า นักลงทุนเทขายหุ้นเนื่องจากกังวลว่าธุรกิจค้าปลีกเริ่มได้รับผลกระทบจากอัตราเงินเฟ้อที่พุ่งขึ้นแซงหน้าค่าจ้าง ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวอาจเกิดขึ้นเป็นเวลานานกว่าที่คาดการณ์ไว้ ผลประกอบการที่ย่ำแย่ของบริษัทค้าปลีกสะท้อนให้เห็นว่า เงินเฟ้อกำลังส่งผลกระทบต่ออำนาจซื้อของผู้บริโภค

สำหรับข้อมูลเศรษฐกิจในภูมิภาคที่เปิดเผยไปแล้วนั้น กระทรวงการคลังญี่ปุ่นระบุว่า ยอดส่งออกในเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 12.5% เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเพิ่มขึ้นติดต่อกันเป็นเดือนที่ 14 หลังจากพุ่งขึ้น 14.7% ในเดือนมี.ค. แต่ต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะเพิ่มขึ้น 13.8% โดยยอดส่งออกได้แรงหนุนจากอุปสงค์เหล็กและแร่เชื้อเพลิงที่แข็งแกร่งจากต่างประเทศ

ส่วนยอดนำเข้าเดือนเม.ย. เพิ่มขึ้น 28.2% เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้น 35.0% เนื่องจากเงินเยนที่อ่อนค่าทำให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกพุ่งสูงขึ้น และส่งผลให้ยอดนำเข้าสูงขึ้น

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังขาดดุลการค้า 8.392 แสนล้านเยน (6.56 พันล้านดอลลาร์) เทียบกับตัวเลขคาดการณ์ที่ว่าจะขาดดุล 1.150 ล้านล้านเยน โดยญี่ปุ่นยังคงขาดดุลการค้าเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (19 พ.ค. 65)

Tags:
Back to Top