สธ. สั่งเข้มคัดกรองโรคฝีดาษลิงโดยเฉพาะผู้เดินทางจากปท.เสี่ยง-เตรียมแผนรับมือ

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงว่า ขอให้ประชาชนได้ติดตามสถานการณ์ ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขอย่างใกล้ชิด แต่ไม่ต้องตื่นตระหนก ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขได้ตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขกรณีโรคฝีดาษลิง เพื่อเฝ้าระวังและคัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด หรือมีความเสี่ยง 17 ประเทศ รวมทั้งติดตามสถานการณ์ทั้งในและต่างประเทศ และกำหนดแผนรับมือ

“โดยปกติแล้ว ในแต่ละสนามบินจะมีกรมควบคุมโรคเป็นด่านคัดกรอง และควบคุมโรคอยู่แล้ว แต่ก็จะปฏิบัติงานให้เข้มมากขึ้น โดยมีการเพิ่มกรณีฝีดาษลิงมาโดยเฉพาะ และต้องเข้มในประเทศที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ”

นายสาธิต ระบุ

ขณะเดียวกัน จะต้องมีการทำความเข้าใจกับคลินิกโรคผิวหนัง และคลินิกกามโรค เกี่ยวกับสถานการณ์และข้อมูลของโรคฝีดาษลิง ซึ่งเบื้องต้นจะแจ้งเตือนไปยังสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ ให้ติดตามไปยังคลินิกต่างๆ ว่ามีโรคฝีดาษลิงตามนิยามเข้ามาแล้วหรือไม่ และทั่วโลกอาจจะต้องมีการปรับนิยามให้เข้ากับโรคติดต่อร้ายแรงหรือไม่ด้วย เพราะขณะนี้ยังไม่ได้มีการปรับนิยาม เพียงแต่ให้ติดตามการระบาดอย่างใกล้ชิด เพื่อเป็นข้อมูลในการเฝ้าระวังกันต่อไป

อย่างไรก็ดี ในอดีตตั้งแต่ก่อนปี 23 จะมีการปลูกฝีเพื่อป้องกันอาการรุนแรงจากโรคฝีดาษได้ถึง 80% แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อ และต่อมาโรคนี้ได้หมดไปจากประเทศไทย ซึ่งทำให้ประชากรที่เกิดหลังจากปี 23 เป็นต้นไป ไม่ได้มีการฉีดวัคซีนป้องกันฝีดาษแล้ว

นายสาธิต กล่าวด้วยว่า ขอให้ประชาชนเฝ้าระวังและสังเกตอาการตนเอง โดยโรคนี้จะมีอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ มีตุ่มฝีขึ้น ภายใน 1 สัปดาห์ ซึ่งสามารถแยกอาการดังกล่าวออกจากโรคอื่นได้

“ต้องคอยฟังคำเตือนเป็นระดับจากกรมควบคุมโรคด้วย ขณะนี้ประเทศไทยไม่น่าจะมีเกิดขึ้น โรคดังกล่าว ไม่ได้อยู่ในประเทศไทยมานานแล้ว เพียงแต่เริ่มมีการแพร่จากในต่างประเทศ ดังนั้นจึงต้องติดตามข้อมูลว่าเข้ามายังประเทศไทยแล้วหรือยัง”

รมช.สาธารณสุข กล่าว

ส่วนความจำเป็นที่จะต้องรื้อฟื้นแนวทางการปลูกฝีหรือไม่นั้น นายสาธิต กล่าวว่า ต้องติดตามแผนงานว่าในการระบาดของแต่ละประเทศว่าเป็นอย่างไร และในประเทศไทยมีหลายบริษัทที่ผลิตวัคซีนได้ แต่ต้องไปดูว่าจะสามารถคุ้มค่าในการลงทุนปลูกฝีหรือไม่ พร้อมกับระบุว่าการแพร่ระบาดไม่ได้ง่ายเหมือนโควิด-19 แม้ว่าจะอยู่ใกล้กัน แต่ต้องเป็นการสัมผัสใกล้ชิดจริงๆ ถึงจะติดเชื้อได้ ดังนั้นจะต้องติดตามสถานการณ์ต่อไป

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (24 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top