Power of The Act: ผู้ผลิตพลังงานมีโอกาสถูกดำเนินคดีจากปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือไม่ ?

บริษัทสำรวจและผลิตน้ำมันหรือบริษัทผลิตไฟฟ้าต้องอาศัยเงินทุนในการประกอบการและพัฒนาธุรกิจของตน โดยอาจเลือกระดมทุนโดยการเสนอขายหุ้นแก่ประชาชนผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในขณะที่นักลงทุนอาจเลือกที่จะซื้อหุ้นของบริษัทผู้ผลิตพลังงานในตลาดหลักทรัพย์ โดยมองว่าเป็นโอกาสที่จะทำกำไร

อย่างไรก็ตาม คำถามที่สำคัญคือ “จะเลือกหุ้นอย่างไร ?” สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้การตัดสินใจของนักลงทุนเป็นไปโดยสมเหตุสมผลคือ “ข้อมูล” เกี่ยวกับการประกอบธุรกิจ การจัดการ การกำกับดูแลกิจการ และฐานะการเงินและผลการดำเนินงานของบริษัท ข้อมูลดังกล่าวควรแสดงถึงความเป็นไปได้ (Probability)” ของเหตุการณ์ที่ก่อความสูญเสียหรือการลดลงของโอกาสซึ่งเกิดขึ้นโดยปัจจัยต่าง ๆ อันส่งผลให้บริษัทจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของตนได้ ความเป็นไปได้นี้เรียกว่า “ความเสี่ยง”

บริษัทผู้ผลิตพลังงานเผชิญความเสี่ยงหลายประเภท เช่น ความเสี่ยงอันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางกฎหมายหรือกฎระเบียบ การเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีพลังงาน หรือแม้แต่การที่สินทรัพย์ซึ่งถูกใช้เพื่อการประกอบกิจการเสียหายจากปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

นอกจากความเสี่ยงดังกล่าวแล้ว ในปัจจุบัน บริษัทผู้ผลิตพลังงานยังอาจมีความรับผิดทางกฎหมายอันเป็นผลจากการที่การประกอบการและนโยบายของบริษัทให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

บทความนี้ ตั้งคำถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ ที่ประชาชนจะฟ้องคดีให้บริษัทผู้ผลิตพลังงานต้องรับผิดทางกฎหมายเนื่องจากการประกอบธุรกิจของบริษัทผู้ผลิตพลังงานนั้นมีส่วนทำให้โลกร้อนขึ้นและส่งผลต่อสุขภาพของประชาชน ? การฟ้องคดีในลักษณะนี้ (ซึ่งอาจเรียกว่า “คดีโลกร้อน”) ย่อมเป็นความเสี่ยงประการหนึ่งที่นักลงทุนควรได้รับทราบประกอบการตัดสินใจลงทุนในบริษัทผู้ผลิตพลังงาน คดีโลกร้อนซึ่งเอกชนฟ้องให้บริษัทผู้ผลิตพลังงานรับผิดจากการมีส่วนก่อให้เกิดปรากฏการณ์โลกร้อนมีตัวอย่างให้เห็นในประเทศเนเธอร์แลนด์

คดีโลกร้อนที่ประเทศเนเธอร์แลนด์: Milieudefensie et al. v. Royal Dutch Shell plc

เมื่อวันที่ 5 เมษายน 2019 ผู้ฟ้องคดี Milieudefensie (ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมที่จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 มกราคม ค.ศ. 1971) และ Greenpeace Nedeland (ตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1979) องค์กรเอกชนอื่นและประชาชนกว่า 1700 คน ฟ้อง Royal Dutch Shell plc (Shell) ต่อศาลของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยอ้างว่า Shell มีส่วนต่อการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ การกระทำของ Shell นั้นถือเป็นการฝ่าฝืนต่อหน้าที่ในการใช้ความระมัดระวัง (Duty of Care) ตามกฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์และหน้าที่ตามกฎหมายสิทธิมนุษยชน นอกจากนี้ Shell ก็ไม่ได้ดำเนินการเพื่อลดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศอย่างเพียงพอ ด้วยเหตุนี้ ผู้ฟ้องคดีจึงมีคำขอให้ศาลพิพากษาให้ Shell ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ในปริมาณร้อยละ 45 ในปี ค.ศ.2030 โดยเทียบกับระดับการปล่อยก๊าซในปี ค.ศ.2010 และทำให้การปล่อยก๊าซเป็นศูนย์ในปี ค.ศ.2050 เพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลง Paris Climate Agreement

คดีนี้เรียกได้ว่า “คดีละเมิด” อย่างไรก็ตาม ประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์ (มาตรา 162) ไม่ได้มีถ้อยคำที่บัญญัติเอาไว้ว่าหาก Shell มีส่วนก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศแล้วจะต้องรับผิดโดยตรง หากแต่บัญญัติ (เอาไว้กว้าง ๆ ) ว่าการกระทำที่เป็นการละเมิด (ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ทำละเมิดต้องรับผิดทางกฎหมาย) ก็ต่อเมื่อผู้ทำละเมิดนั้นได้ฝ่าฝืนต่อหน้าที่ที่กฎหมายกำหนด และยังรวมไปถึง “กฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรอันสามารถถูกพิจารณาได้ว่าเป็นการกระทำที่มีความเหมาะสม (according to unwritten law has to be regarded as proper social conduct)” อีกด้วย ผู้ฟ้องคดีมองว่า Shell ไม่ได้ใช้ความระมัดระวังในการ “ป้องกันอันตรายจากการเปลี่ยนทางภูมิอากาศผ่านทางนโยบายของบริษัท” อย่างไรก็ตาม Shell ต่อสู้ว่าบริษัทไม่ได้ฝ่าฝืนต่อหน้าที่การใช้ความระมัดระวังที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรแต่อย่างใด

ศาลของประเทศเนเธอร์แลนด์วินิจฉัยว่า Shell “ได้ฝ่าฝืนต่อหน้าที่” ในการใช้ความระมัดระวังตามกฎหมายของประเทศเนเธอร์แลนด์ โดยอธิบายว่าการตีความมาตรฐานในการใช้ความระมัดระวังตามประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์นั้นจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยต่าง ๆ รวมถึง การกำหนดนโยบายของ Shell การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกลุ่ม Shell ผลของการปล่อยก๊าซต่อประเทศเนเธอร์แลนด์ และ UN Guiding Principles โดยศาลทำการชั่งน้ำหนักนโยบาย เป้าหมายของนโนบายและความมุ่งมั่นของ Shell ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ และเมื่อพิจารณาปัจจัยเหล่านี้ประกอบกันแล้ว ศาลจึงได้สรุปว่า Shell ได้ฝ่าฝืนต่อหน้าที่ในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์

Shell ให้ความเห็นว่าบริษัท “ผิดหวัง” ต่อคำตัดสินของศาล และได้อธิบายว่าบริษัทได้ลงทุนไปจำนวนหลายพันล้านดอลลาร์ในการกิจการพลังงานที่มีคาร์บอนต่ำ เช่น ยานยนต์พลังงานไฟฟ้า ไฮโดรเจน พลังงานหมุนเวียน และเชื้อเพลิงชีวภาพ และจะดำเนินการอุทธรณ์คำพิพากษาต่อไปยังศาลอุทธรณ์ ณ กรุงเฮกต่อไป

แล้วกฎหมายไทยว่าอย่างไร และเทียบกับกฎหมายของเนเธอร์แลนด์ได้หรือไม่ ?

คดี Milieudefensie et al. v. Royal Dutch Shell plc แสดงให้เห็นถึงบทบาทของ “กฎหมายต่อการต่อสู่กับปัญหาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ” คดีนี้มีความพิเศษตรงที่ศาลของประเทศเนเธอร์แลนด์ตีความให้ความรับผิดทางละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่ง ครอบคลุมไปถึงหน้าที่ของบริษัทพลังงานในการลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งที่กฎหมายไม่ได้บัญญัติถึงการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศเอาไว้ คำว่า “หน้าที่ในการใช้ความระมัดระวัง” นั้นได้ถูกตีความให้รวมไปถึงการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของบริษัท

คำถามสำหรับประเทศไทยคือหากบริษัทผู้ผลิตพลังงานในประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์แต่ไม่ได้ดำเนินการลดหรือมีนโยบายลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อย่างเพียงพอ จะถือเป็นการฝ่าฝืนต่อหน้าที่ตามกฎหมายและต้องรับผิดฐานละเมิดหรือไม่ ? เพื่อตอบคำถามดังกล่าว เราต้องตอบคำถามทางกฎหมายข้อแรกก่อนว่า แล้วกฎหมายละเมิดของประเทศไทยกับของประเทศเนเธอร์แลนด์เทียบกันได้หรือไม่ ?

คำตอบถือมีหลักการในสาระสำคัญที่สามารถเทียบเคียงได้ แต่ก็มีจุดที่แตกต่างโดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของความรับผิดอันเกิดจากการฝ่าฝืนหน้าที่ตามกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งเป็นการกระทำที่มีความเหมาะสม มาตรา 420 ของประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทยบัญญัติว่า ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดย “ผิดกฎหมาย” ให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น

กฎหมายไทยอาจจะไม่ได้มีคำว่า “พฤติกรรมทางสังคมที่เหมาะสมตามกฎหมายที่ไม่เป็นลายลักษณ์อักษร” แต่ก็น่าคิดว่า การไม่ได้ดำเนินการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือมีนโยบายในการลดการปล่อยก๊าซอย่างเพียงพอจะถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ “ผิดกฎหมาย” หรือไม่เพียงใด โดยเฉพาะอย่างเมื่อประเทศไทยได้ลงนามใน Paris Agreement และได้ส่งเอกสารแสดงการมีส่วนร่วมที่ (Nationally Determined Contributions หรือ “NDCs”) โดยกำหนดเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซแล้ว

บ้านเรามีคดีที่ผู้ผลิตพลังงานต้องรับผิดชดใช้ค่าเสียหายจากการก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของประชาชนหรือไม่?

หลายท่านอาจเคยเห็นคดีที่ผู้ผลิตพลังงานซึ่งก่อมลพิษในประเทศไทยต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมแทน เช่น คดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด คดีหมายเลขแดงที่ อ.730-748/2557 ซึ่งเป็นคดีที่ชาวบ้านซึ่งอาศัยอยู่ในอำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง อันเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้าที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์เป็นเชื้อเพลิงผลิตกระแสไฟฟ้าได้ประสบปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองและก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากผู้ประกอบกิจการโรงไฟฟ้า (การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย)

โดยสรุปแล้วศาลปกครองวินิจฉัยว่า “โรงไฟฟ้าแม่เมาะเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษโดยปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซต์สู่บรรยากาศในพื้นที่อำเภอแม่เมาะ จังหวัดลำปาง ในปริมาณที่จะเป็นอันตรายต่อประชาชน กล่าวคือมีค่าเฉลี่ยฯ เกินกว่า 780 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ซึ่งค่ามาตรฐานที่ควรเป็น และเกินกว่า 1,300 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตรตามที่ประกาศคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมเห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2535) กำหนดไว้

การที่ผู้ถูกฟ้องไม่ได้บำบัดหรือควบคุมมิให้ค่าเฉลี่ยฯ สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานและที่ประกาศกำหนด จึงเป็นการละเลยต่อหน้าที่ตามที่กฎหมายกำหนดให้ต้องปฏิบัติในการปล่อยก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ออกสู่บรรยากาศ” โรงไฟฟ้าแม่เมาะของผู้ถูกฟ้องคดีจึงเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่มีหน้าที่ในการควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียให้เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนด ด้วยเหตุนี้ ผู้ถูกฟ้องคดีจึงมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนหรือค่าเสียหายแก่ผู้ฟ้องคดีตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2535 *ก้าวต่อไปของบริษัทผู้ผลิตพลังงานควรจะเป็นอย่างไร ?

คดี Milieudefensie et al. v. Royal Dutch Shell plc และคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะแสดงให้เห็นว่าบริษัทผู้ผลิตพลังงานมีความเสี่ยงในความรับผิดอันเกิดจากการก่อมลพิษและการมีส่วนร่วมในการเร่งปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หากบริษัทฝ่าฝืนหน้าที่กฎหมายว่าด้วยมาตรฐานสิ่งแวดล้อมกำหนด บริษัทย่อมมีความรับผิดตามกฎหมาย (ดังเช่นคดีโรงไฟฟ้าแม่เมาะ)

อย่างไรก็ตาม คดี Milieudefensie et al. v. Royal Dutch Shell plc แสดงให้เห็นว่า “การไม่ลดการปล่อยก๊าซ” ในระดับที่เพียงพอต่อการป้องกันและแก้ไขปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศก็อาจส่งผลให้บริษัทผู้ผลิตพลังงานมีหน้าที่ต้องรับผิดทางกฎหมายจากการฝ่าฝืนหน้าที่ตามกฎหมายซึ่ง (ยัง) ไม่เป็นลายลักษณ์อักษรได้

ถ้อยคำของบทบัญญัติตามมาตรา 162 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งของประเทศเนเธอร์แลนด์ และมาตรา 420 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ของประเทศไทยนั้นมิได้มีเหมือนกันทั้งหมด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในส่วนของการกำหนดความรับผิดฐานละเมิดอันเป็นจากการฝ่าฝืนหน้าที่ที่ไม่ได้มีกฎหมายบัญญัติเป็นลายลักษณ์อักษร

อย่างไรก็ตาม เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าความรับผิดทางกฎหมายอันเกิดจากการไม่ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์นั้น มีโอกาสเกิดขึ้นได้และควรถูกรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในการประเมินความเสี่ยงเพื่อประกอบการตัดสินใจลงทุน โดยเฉพาะยิ่งเมื่อเราย้อนกลับไปดูนิยามของความเสี่ยงที่ให้ความสำคัญกับ “ความเป็นไปได้ (probability)” ของเหตุการณ์ที่ก่อความสูญเสียหรือการลดลงของโอกาสซึ่งเกิดขึ้นโดยปัจจัยต่าง ๆ อันส่งผลให้บริษัทจะไม่สามารถบรรลุวัตถุประสงค์ของตนได้

อ.ดร.ปิติ เอี่ยมจำรูญลาภ

ผู้อำนวยการหลักสูตร LL.M. (Business Law) หลักสูตรนานาชาติ

คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (25 พ.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top