“จอร์จ โซรอส” ชี้ก๊าซในคลังรัสเซียใกล้เต็มแล้ว แนะ EU หาช่องทางต่อรอง

นายจอร์จ โซรอส มหาเศรษฐีและนักลงทุนชื่อดังเปิดเผยว่า อำนาจในการต่อรองของประธานาธิบดีวลาดิเมียร์ ปูตินแห่งรัสเซียไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่เขาแสร้งทำ ขณะที่ยุโรปเองก็มีโอกาสสร้างข้อต่อรองกับปธน.ปูตินด้วยเช่นกัน

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานโดยอ้างจดหมายที่นายโซรอสยื่นถึงนายมาริโอ ดรากี นายกรัฐมนตรีอิตาลี โดยระบุว่า ปธน.ปูตินกำลังแบล็กเมลยุโรปอย่างเห็นได้ชัด ทั้งเคยขู่เมื่อช่วงที่ผ่านมา จนถึงตอนนี้ก็ระงับการส่งออกก๊าซจริง ๆ

“นั่นคือสิ่งที่ปูตินกระทำในช่วงที่ผ่านมา เขากักตุนก๊าซเอาไว้แทนที่จะส่งออกไปยุโรป ทำให้ก๊าซขาดตลาด ราคาพุ่งขึ้น ก่อนจะโกยเงินเข้ากระเป๋า แต่อำนาจในการต่อรองของปูตินนั้นไม่ได้แข็งแกร่งอย่างที่เขาพยายามให้เป็น”

ทั้งนี้ รัสเซียได้ระงับการส่งก๊าซไปยังฟินแลนด์ โดยอ้างว่าฟินแลนด์ไม่ยอมจ่ายค่าก๊าซด้วยเงินรูเบิล ซึ่งความเคลื่อนไหวดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากที่ฟินแลนด์ประกาศเข้าร่วมเป็นสมาชิกของนาโต ซึ่งเป็นปฏิปักษ์กับปธน.ปูติน

ด้านบัลแกเรียและโปแลนด์ก็ถูกตัดก๊าซจากรัสเซียไปเมื่อสองสัปดาห์ก่อน นอกจากนี้ หลังจากที่รัสเซียบุกโจมตียูเครน ทางการรัสเซียเองก็ประกาศรายชื่อประเทศที่ไม่เป็นมิตรต่อรัสเซีย ซึ่งจะต้องจ่ายค่าก๊าซด้วยเงินรูเบิล ซึ่งเป็นนโยบายที่รัสเซียใช้เพื่อประคองค่าเงินรูเบิล

ทั้งนี้ นายโซรอสต้องการสื่อให้เห็นว่า ยุโรปเองก็มีอำนาจกดดันให้ปธน.ปูตินต้องเสียประโยชน์ด้วยเช่นกัน เนื่องจากสหภาพยุโรป (EU) เป็นตลาดใหญ่มากสำหรับรัสเซีย และปูตินเองก็ต้องการรายได้จากก๊าซเพื่อพยุงเศรษฐกิจ โดย EU นำเข้าก๊าซจากรัสเซียคิดเป็น 40% ทำให้เป็นเรื่องยากที่จะยกเลิกซื้อก๊าซจากรัสเซียได้ในชั่วข้ามคืน

นายโซรอสระบุว่า “มีการคาดการณ์ว่า ปริมาณก๊าซในคลังของรัสเซียนั้นจะเต็มขีดจำกัดในเดือนก.ค.นี้ ขณะที่ยุโรปเป็นตลาดหลักเพียงแห่งเดียว หากปูตินไม่ระบายก๊าซให้ยุโรป ก็ต้องปิดแหล่งก๊าซในไซบีเรีย ซึ่งมีแหล่งก๊าซประมาณ 12,000 แห่ง ซึ่งต้องใช้เวลาในการปิดระบบ และเมื่อปิดแล้ว ก็ยากที่จะกลับมาเปิดอีกรอบ เพราะอายุการใช้งานของอุปกรณ์”

นอกจากนี้ นายโซรอสยังเพิ่มเติมว่า ยุโรปเองก็ต้องหาทางเตรียมพร้อมอย่างเร่งด่วนก่อนที่จะใช้อำนาจต่อรอง หากไม่มีแผนสำรอง ผลจากการหยุดส่งก๊าซโดยกะทันหันจะส่งผลกระทบทางการเมืองจนยากที่จะรับไหว และหลังจากนั้นยุโรปก็ควรกำหนดภาษีนำเข้าก๊าซอย่างมากเพื่อไม่ให้ราคาผู้บริโภคลดลง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (26 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top