คกก.ปฏิรูปประเทศ เร่งผลักดันยกเครื่องกม.หวังสกัดทุจริต

นายภักดี โพธิศิริ ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ กล่าวถึงประเด็นการขับเคลื่อนและผลักดันประเด็นกฎหมายตามแผนการปฏิรูปประเทศด้านการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ (ฉบับปรับปรุง) มีจำนวนทั้งสิ้น 10 ฉบับ ซึ่งสามารถสรุปผลการดำเนินการหลังสิ้นสุดแผนการปฏิรูปประเทศได้ ดังนี้

กฎหมายแล้วเสร็จและอยู่ระหว่างการดำเนินการ จำนวน 6 ฉบับ ได้แก่

  1. การปรับปรุงกฎหมายเกี่ยวกับการให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐและรางวัลจากการแจ้งเบาะแส
  2. การจัดทำกฎหมายเกี่ยวกับการกำหนดความผิดของนิติบุคคล และผู้ร่วมกระทำความผิดที่เกี่ยวข้องกับการทุจริตและประพฤติมิชอบ
  3. การปรับปรุงกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.)โดยให้นำเรื่อง การส่งเสริมการต่อต้านการทุจริตและประพฤติมิชอบในภาครัฐ
  4. การเร่งรัดการจัดทำร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับ การขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลและผลประโยชน์ส่วนรวม พ.ศ. ….
  5. การปรับปรุงพ.ร.บ.การอำนวยความสะดวกในการพิจารณาอนุญาตของทางราชการ พ.ศ. 2558
  6. การปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ

ส่วนกฎหมายที่จะต้องดำเนินการผลักดันต่อหลังจากปี 65 จำนวน 4 ฉบับ ได้แก่

  1. การแก้ไขพ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการพ.ศ. 2540 ให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 59 และมาตรา 253
  2. การเร่งรัดการจัดทำพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของเจ้าหน้าที่ของรัฐต่อหัวหน้าส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานของรัฐที่ตนสังกัดหรือปฏิบัติงานอยู่ เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการตรวจสอบการร่ำรวยผิดปกติ
  3. การจัดทำกฎหมายว่าด้วยการบริหารงานบุคคลในระบบคุณธรรมตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 76 วรรคสอง ให้มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่และพนักงานของรัฐด้วยระบบคุณธรรม
  4. การปรับปรุงระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการให้หรือรับของขวัญของเจ้าหน้าที่ของรัฐและหน่วยงานของรัฐ

ในส่วนการแก้ไขกฏหมายเปิดเผยข้อมูลสาธารณะ ที่หน่วยงานรัฐอ้างว่า เป็นเรื่องลับ ลับสุดยอด หรือ การประมูลภาครัฐในโครงการเมกะโปรเจคท์ หรือร่างสัญญา มีข้ออ้างว่า เสียรูปประมูลเพราะมีความได้เปรียบ เสียบเปรียบเอกชน ไม่สามารถนำมาเผยแพร่ได้นั้น นายภักดี กล่าวว่า ทางคณะกรรมการปฏิรูปฯ เคยเสนอความเห็นไปยังนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถึง 8 ครั้ง แต่ก็ไม่สำเร็จ จึงทำให้เรื่องการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารต่างๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหัวหน้าหน่วยงานว่าจะอนุญาตหรือไม่ ซึ่งเป็นประเด็นหนึ่งที่คิดว่า ยังต้องเดินหน้าผลักดันต่อไป

นายภูเทพ ทวีโชติธนากุล ผู้ช่วยเลขาธิการคณะกรรมการ ป.ป.ช. กล่าวถึงการยื่นบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินเจ้าหน้าที่รัฐ จะมีการตรวจสอบทุกระดับหรือไม่ว่า กรณีเจ้าหน้าที่รัฐไม่ได้ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อคณะกรรมการป.ป.ช. มีหน้าที่ยื่นบัญชีทรัพย์สินต่อหัวหน้าหน่วยงาน ซึ่งไม่ใช่ข้าราชการทั่วประเทศต้องยื่นกับหัวหน้าหน่วย แต่ดูหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับงบประมาณ หรือมีการใช้อำนาจที่กระทบกับประชาชนเป็นจำนวนมากจะต้องดำเนินการก่อน

ส่วนเกณฑ์ตัดสินว่า เข้าข่ายร่ำรวยผิดปกติหรือไม่นั้น นายภูเทพ กล่าวว่า โดยปกติข้าราชการมีรายได้ที่ชัดเจน แต่จะตรวจสอบว่า ทรัพย์สินที่ได้มาทุกทางสามารถตอบได้ หรือสัมพันธ์กับการมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นหรือไม่ ส่วนประชาชนสามารถมีสิทธิตรวจสอบได้หรือไม่หากรู้สึกว่า ข้าราชการคนนั้นเหมือนรวยขึ้นแบบผิดปกติ ถือเป็นสิทธิประชาชนต่อต้านการทุจริตทุกรูปแบบ ตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับแจ้งเบาะแสได้อยู่แล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (27 พ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top