กอนช.เร่งระบายน้ำออกจากพื้นที่นาข้าวจ.นครราชสีมา คาดระดับน้ำลดใน 7 วัน

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะรองผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ชี้แจงกรณีฝนตกหนักต่อเนื่อง ส่งผลให้พื้นที่นาข้าวใน อ.โนนไทย และ อ.โนนสูง จ.นครราชสีมา ถูกมวลน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำเชียงไกรตอนล่าง ทะลักเข้าท่วมก่อให้เกิดความเสียหาย ว่า จากกรณีดังกล่าว กอนช. ได้มอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมชลประทาน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่ เป็นต้น ลงพื้นที่เพื่อติดตามตรวจสอบสถานการณ์และแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน

ทั้งนี้ ปัจจุบันสถานการณ์น้ำหลากเนื่องจากฝนที่ตกในช่วงที่ผ่านมา มีแนวโน้มลดลง โดยขณะนี้อ่างลำเชียงไกรตอนล่าง มีอัตราการระบายที่ 17 ลบ.ม. ต่อวินาที (ความจุคลอง 60 ลบ.ม. ต่อวินาที) และจากการลงสำรวจพื้นที่ไร่นาในจุดต่าง ๆ ของ อ.โนนไทย และ อ.โนนสูง พบว่า พื้นที่นาใน อบต.กำปัง ปัจจุบันระดับน้ำลดลงจนเกือบเข้าสู่สภาวะปกติแล้ว

อย่างไรก็ตาม พื้นที่นาบริเวณ อบต.จันอัด ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมทุ่ง แต่มีแนวโน้มลดลง คาดว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่สภาวะปกติใน 7 วันข้างหน้านี้ หากไม่มีฝนตกลงมาเพิ่ม โดยหน่วยงานท้องถิ่นจะเร่งสูบน้ำออกจากพื้นที่เกษตรกรรม และจะยังคงเหลือปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไว้สำหรับทำการเพาะปลูกต่อไป

“พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) มีความห่วงใยต่อสถานการณ์พื้นที่นาข้าวใน จ.นครราชสีมา ที่ได้รับผลกระทบจากมวลน้ำที่ไหลเข้าท่วมจากภาวะฝนตกหนัก จึงได้สั่งการให้ กอนช. เร่งรัดการระบายน้ำออกจากพื้นที่ เพื่อลดผลกระทบแก่เกษตรกรโดยเร็วที่สุด พร้อมมอบหมายให้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในการสำรวจพื้นที่ในจุดที่ได้รับความเสียหาย เพื่อเร่งให้ความช่วยเหลือ บรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชน โดยขณะนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ดำเนินการระบายน้ำตามแผน เพื่อลดระดับน้ำอย่างเร่งด่วน และได้เข้าช่วยเหลือประชาชนผู้ได้รับผลกระทบในเบื้องต้นแล้ว พร้อมกันนี้ ยังได้มีการนำเครื่องจักรเข้าดำเนินการเพื่อขุดลอกเสริมคันดินตามจุดเสี่ยงน้ำท่วมด้วย” นายสุรสีห์ กล่าว

นายสุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระยะนี้จนถึงวันที่ 31 พ.ค. 65 ประเทศไทยจะมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ จากอิทธิพลของมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับร่องมรสุมที่พาดผ่านตอนบนของภาคเหนือเข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำที่ปกคลุมบริเวณอ่าวตังเกี๋ย โดย กอนช. จะมีการประเมินสถานการณ์น้ำและประเมินพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยทั่วประเทศอย่างใกล้ชิด

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top