กรมพัฒน์ฯเร่งนำเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพการบริการเร่งฟื้นฟูภาคธุรกิจ

นายทศพล ทังสุบุตร อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) และรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายสินิตย์ เลิศไกร) ให้ความสำคัญต่อการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาพัฒนาและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการและอำนวยความสะดวกภาคธุรกิจและประชาชน โดยกำหนดให้หน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงพาณิชย์ต้องเร่งนำเทคโนโลยีเข้ามาต่อยอดการให้บริการ โดยเฉพาะช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทุกภาคส่วนได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อม

กรมฯ จึงได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการบริการด้านต่างๆ แบบครบวงจร และได้กำหนดให้ปี 2565 เป็นปีที่ต้องเร่งฟื้นฟู ช่วยเหลือ และสร้างความเข้มแข็งแก่ภาคธุรกิจ พร้อมสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ผู้ประกอบการชุมชน ภายใต้นโยบาย Powered by DBD : เสริมพลังผู้ประกอบการ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ให้สอดคล้องกับภารกิจหลัก 3 ด้าน คือ 1) การจดทะเบียนธุรกิจและบริการข้อมูลธุรกิจ 2) การส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ และ 3) การสร้างธรรมาภิบาลธุรกิจ

ด้านการจดทะเบียนธุรกิจและบริการข้อมูลธุรกิจ 1.1) นำเทคโนโลย AI มาใช้ในการจองชื่อนิติบุคคลออนไลน์ ทำให้ลดระยะเวลาทราบผลจาก 2 วัน เป็นทราบผลทันที (ณ มกราคม-เมษายน 2565 อนุมัติชื่อแล้ว 105,235 รายชื่อ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปี 2564 คิดเป็นร้อยละ 59) 1.2) ปรับระบบการจดทะเบียนนิติบุคคลทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Registration) ให้เป็นระบบดิจิทัลแบบ End to End Process เช่น การพัฒนาระบบยืนยันตัวตนผ่านระบบ e-KYC และการออกใบสำคัญแสดงการจดทะเบียนในรูปแบบไฟล์อิเล็กทรอนิกส์

1.3) การพัฒนาต่อยอดคลังข้อมูลธุรกิจ DBD Data Warehouse+ โดยเชื่อมโยงข้อมูลการขอใบอนุญาตต่างๆ กับระบบศูนย์กลางบริการภาครัฐ หรือ Biz Portal ของสำนักงาน ก.พ.ร. รวมถึงการสร้างระบบ Chat Bot เพื่อการให้คำปรึกษาแนะนำการใช้บริการตลอด 24 ชม. ซึ่ง ณ มกราคม-เมษายน 2565 มีผู้ใช้บริการถึง 4,162,956 ครั้ง

และ 1.4) การพัฒนาระบบจดทะเบียนบริษัทมหาชนทางอิเล็กทรอนิกส์ ให้สามารถยื่นจดทะเบียนผ่านระบบดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ รวมทั้งเชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น สำนักงาน ก.ล.ต. ซึ่งถึงแม้ปริมาณการจดทะเบียนนิติบุคคลในรูปแบบบริษัทมหาชนจะมีปริมาณไม่มาก (ณ เมษายน 2565 จำนวน 1,342 ราย) แต่ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่มีมูลค่าการลงทุนสูง (ณ เมษายน 2565 มีมูลค่าทุนจดทะเบียน 5.218 ล้านล้านบาท) การอำนวยความสะดวกดังกล่าว จะนำไปสู่การเป็นประเทศที่ง่ายต่อการประกอบธุรกิจ สร้างบรรยากาศที่ดีต่อการลงทุนของประเทศมากยิ่งขึ้น

ด้านการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจ กรมฯ เน้นเสริมสร้างศักยภาพผู้ประกอบการไทยทุกระดับผ่านการบูรณาการหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่ผู้ประกอบการไทย รองรับการทำธุรกิจในยุควิถีใหม่ สามารถปรับตัวเข้าสู่ตลาด มีรายได้ ซึ่งจะส่งผลต่อการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

2.1) การเสริมทักษะการประกอบธุรกิจที่จำเป็นต่อการปรับตัวในยุควิถีใหม่ โดยนำเทคโนโลยีมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการประกอบธุรกิจในธุรกิจโชวห่วย ธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์ ธุรกิจสำนักงานบัญชี รวมถึง การจับคู่เชื่อมโยงกลุ่มผู้ประกอบการ SME กับ ธุรกิจ Startup ทั้งในรูปแบบการให้ความรู้แบบ On-site และผ่านระบบ e-Learning ปัจจุบันกรมฯ ได้มีการพัฒนาและปรับหลักสูตรให้ทันสมัยถึง 7 หลักสูตร 33 วิชา โดยในครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2565 มีผู้ผ่านการอบรมแล้วกว่า 29,000 ราย

2.2) การสร้างโอกาสทางการตลาด โดยส่งเสริมให้นำพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) มาใช้ และมีการสร้างชุมชนต้นแบบ Digital Village by DBD ผลักดันสินค้าชุมชนที่มีอัตลักษณ์ให้สามารถสร้างมูลค่าทั้งในด้านบรรจุภัณฑ์ คุณภาพ การบริหารจัดการ การตลาด และต่อยอดเข้าสู่ช่องทางการค้าออนไลน์ ที่ผ่านมาได้พัฒนาไปแล้ว 34 ชุมชน สามารถสร้างรายได้ให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการชุมชน เพิ่มขึ้นกว่า ร้อยละ 12 โดยในปีงบประมาณ 2565 นี้ กรมมีเป้าหมายที่จะดำเนินการเพิ่มเติมอีก 20 ชุมชน

นอกจากนี้ ยังได้ผลักดันการยกระดับการสร้างมูลค่าสินค้าพื้นถิ่น ด้วยแนวคิด SMART Local by DBD ประกอบด้วย 4 กิจกรรมหลัก คือ SMART Local Shop by DBD, SMART LOCAL BCG, SMART LOCAL Trader และ SMART LOCAL HERB โดยสามารถสร้างมูลค่าทางการค้าแล้ว 68 ล้านบาท รวมถึงกระตุ้นการสร้างโอกาสทางการตลาดให้แก่ธุรกิจแฟรนไชส์ไทย ซึ่งปัจจุบันมีธุรกิจแฟรนไชส์ไทยกว่า 609 แบรนด์ ภายใต้โครงการแฟรนไชส์สร้างอาชีพ โดยได้นำแฟรนไชส์ที่ผ่านการส่งเสริมจากกรมฯ ไปจัดแสดงธุรกิจในส่วนภูมิภาค 15 จังหวัดทั่วประเทศ และกิจกรรม MOC แฟรนไชส์สร้างอาชีพ 2021 เพื่อเป็นทางเลือกในการสร้างอาชีพและรายได้ให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ได้มีผู้สนใจเข้าร่วมเจรจาธุรกิจ 5,800 ราย สามารถสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจรวม 1,375 ล้านบาท

ด้านการสร้างธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ 3.1) ยกระดับธรรมาภิบาลธุรกิจไทยด้วยการให้ความรู้เพื่อการปฏิบัติที่ถูกต้องตามกฎหมาย และสร้างต้นแบบธรรมาภิบาลธุรกิจ ซึ่งปัจจุบันมีผู้ผ่านเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพกว่า 185 ธุรกิจ

3.2) พัฒนาสภาพแวดล้อมส่งเสริมธรรมาภิบาลภาคธุรกิจ ผ่านสำนักงานบัญชีคุณภาพ 169 ราย ผู้ทำบัญชี และผู้สอบบัญชี เพื่อเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้ธุรกิจมีการจัดทำบัญชีและงบการเงินที่ถูกต้อง และโปร่งใส เพื่อนำไปสู่ความน่าเชื่อถือและการเติบโตอย่างยั่งยืนของภาคธุรกิจไทย

“ผลการดำเนินงานทั้งหมดที่ผ่านมาของกรมฯ เป็นส่วนหนึ่งในการเสริมพลังสร้างความเข้มแข็งแก่ผู้ประกอบการไทย ซึ่งความสำเร็จที่เกิดขึ้น เกิดจากความร่วมมืออย่างเหนียวแน่นระหว่างกรมฯ กับหน่วยงานพันธมิตรทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ สถาบันการเงิน และสถาบันการศึกษาต่างๆ รวมถึง สื่อมวลชนทุกแขนงที่ช่วยเป็นกระบอกเสียงในการสร้างการรับรู้ และสร้างความเข้าใจทุกภารกิจการดำเนินงานของกรมฯ แก่สาธารณชนเป็นอย่างดี” อธิบดีกล่าวทิ้งท้าย

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 พ.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top