ทรีนีตี้ ปักธงรุกหนักงาน IB รับภาพรวมเศรษฐกิจคึกคัก-เอกชนเดินหน้าระดมทุน

นายดิถดนัย สังขะรมย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ภาพรวมธุรกิจด้านวาณิชธนกิจช่วงครึ่งปีหลังของปี 65 มีความคึกคักมากขึ้นหลังจากภาคธุรกิจเตรียมพร้อมเข้ามาระดมเงินทุน ทั้งในรูปแบบการเสนอขายหุ้นให้กับประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) และการเสนอขายหุ้นกู้เพื่อนำเงินไปใช้ในการขยายธุรกิจ หลังจากการคลี่คลายของสถานการณ์โควิด-19 และการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมากขึ้นทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั้งในและต่างประเทศกลับมาฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่ ทำให้ภาคธุรกิจมีความเชื่อมั่นที่จะลงทุนเพื่อขยายกิจการ

ปัจจุบัน บริษัทมีดีลเป็นที่ปรึกษาทางการเงินและเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO เพื่อนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) และตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ประมาณ 9-10 บริษัท ที่จะทยอยยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) ทั้งในธุรกิจโลจิสติกส์ ธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหาร ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจที่เกี่ยวกับเทคโนโลยี ในขณะเดียวกันคาดว่าจะมีลูกค้าทยอยเข้ามาอย่างต่อเนื่อง

นายดิถตนัย กล่าวว่า บริษัทมีความพร้อมด้านบุคลากรที่มีประสบการณ์ในงานวาณิชธนกิจมายาวนานที่จะให้คำปรึกษากับบริษัทที่มีความประสงค์จะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพราะทรีนีตี้ เป็น Full Service Brokerage มีงานด้านธุรกิจหลักทรัพย์ งานที่ปรึกษาทางการเงิน งานบริการบทวิเคราะห์แก่นักลงทุน ตลอดจนงานด้านการเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายและรับประกันการจำหน่ายตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างครบวงจร

ช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาบริษัทเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้น IPO ของ บมจ.บริหารสินทรัพย์ ไนท คลับ แคปปิตอล (KCC) และ เตรียมเสนอขายหุ้น IPO ของ บมจ.เบล็ส แอสเสท กรุ๊ป (BLESS) และอยู่ระหว่างยื่นไฟลิ่ง บมจ.ไทยอีสเทิร์น กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (TEGH)

สำหรับรายได้ที่ปรึกษาและค่าธรรมเนียม มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามปริมาณดีลที่เข้ามา โดยในปี 64 มีรายได้ทั้งสิ้น 125.80 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 12.48% ของรายได้รวมที่ 1,008 ล้านบาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 130.78% เมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปีก่อนหน้าที่ทำได้ 54.51 ล้านบาท หรือมีสัดส่วน 7.60% ของรายได้รวม

“บริษัทมีบริการที่ปรึกษาทางการเงิน และงานวาณิชธนกิจแบบครบวงจร หรือ “ONE STOP SERVICE” ครอบคลุมทั้งด้านการระดมทุนผ่านตราสารทุน และตราสารหนี้ และการเป็นที่ปรึกษาในการควบรวม หรือซื้อกิจการ (M&A) ที่ขณะนี้มีดีล M&A 3-4 ดีล ทั้งที่เป็นบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯ และนอกตลาดหลักทรัพย์ฯ รวมถึงการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาในการปรับ โครงสร้างหนี้หลังเศรษฐกิจผ่านพ้นวิกฤตโควิด-19 โดยเทรนด์ M&A ในอุตสาหกรรมมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเทคฯ เพื่อขยายธุรกิจ แบะฐานลูกค้าให้เพิ่มขึ้น”

นายดิถดนัย กล่าว

นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาในการเป็นที่ปรึกษาครอบคลุมครบทุกด้าน โดยล่าสุดบริษัทเตรียมจะเข้าไปเพิ่มโอกาสการเป็นที่ปรึกษาในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิตอล ICO ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาอย่างเหมาะสม ซึ่งหากมีความคืบหน้าจะมีการรายงานเพิ่มเติมอีกครั้ง

ด้านนางสุพัตรา ภู่พัฒน์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวาณิชธนกิจ บล.ทรีนีตี้ รับผิดชอบงานตราสารหนี้ กล่าวว่า ปัจจุบันแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยทั่วโลกอยู่ในทิศทางขาขึ้น หลังจากธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุด 0.50% และมีแนวโน้มจะปรับขึ้นอีก จะเป็นปัจจัยผลักดันให้ภาคธุรกิจเร่งระดมทุนด้วยการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพิ่มมากขึ้น เพื่อล็อกต้นทุนทางการเงิน

ที่ผ่านมา ทรีนีตี้ ได้เข้าไปเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายในการออกและเสนอขายหุ้นกู้อย่างต่อเนื่อง และที่ผ่านมาในแต่ละปีบริษัทจะมีดีลที่เข้าไปเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ 3-4 ดีล และเป็นผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นกู้ประมาณ 5-6 ดีล รวมๆ ต่อปีบริษัทเข้าไปเป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายในการเสนอขายหุ้นกู้กว่า 10 ดีล

ปัจจุบันบริษัทมีดีลผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้และผู้ร่วมจัดจำหน่ายหุ้นกู้ประมาณ 6 ดีล มูลค่าระดมทุนรวมประมาณ 4,000 ล้านบาท วางเป้าทั้งปี 65 จะอยู่ที่ระดับ 10 ดีล

“งานบริการหลักของเรา คือการเป็นที่ปรึกษาทางการเงินในการระดมทุน และเป็นผู้จัดจำหน่ายในการขายหุ้นไอพีโอ และที่ปรึกษาในการทำ M&A ส่วนธุรกรรมด้านหุ้นกู้ของบริษัท จะเป็นบริการที่ลูกค้าใช้บริการต่อเนื่อง หลังจากขายหุ้นไอพีโอ และเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนแล้ว เมื่อต้องการเงินทุนมาขยายธุรกิจ ทรีนีตี้ ก็จะช่วยดูแลให้ได้ใช้โอกาสในการเข้าถึงตลาดทุนในรูปแบบอื่นๆ ที่เปิดกว้างมากขึ้น เช่น การออกหุ้นกู้”

นางสุพัตรา กล่าว

สำหรับลูกค้าในมือที่เตรียมเข้ามาระดมทุนทั้งขายหุ้น IPO และขายหุ้นกู้ก็จะกระจายอยู่ในหลากหลายธุรกิจ ด้านเทคโนโลยี ธุรกิจอาหาร การเงิน ธุรกิจไฟฟ้าพลังงานทดแทน รวมถึงธุรกิจบริหารจัดการสินทรัพย์ (AMC) ที่ต้องการระดมทุนเพื่อนำไปขยายพอร์ตเข้าประมูลหนี้จากสถาบันการเงินที่จะนำหนี้ NPLs ออกมาขาย เพราะคาดกันว่าในระบบจะมีหนี้ NPLs เพิ่มขึ้น ซึ่งเมื่อปลายเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา บริษัทได้เป็นแกนนำในการจัดจำหน่าย และรับประกันการจำหน่ายหุ้น IPO ของ KCC ซึ่งได้รับความสนใจจากนักลงทุนอย่างมาก

ส่วนบริการงานวาณิชธนกิจครบวงจร หรือ “ONE STOP SERVICE” ทางทรีนีตี้มีการจัดตั้งบริษัท ทรีนีตี้ อินเทลลิเจนส์ พลัส จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทที่จะเข้าไปวางระบบการควบคุมภายใน หรือการตรวจสอบภายในให้แก่บริษัทที่กำลังเตรียมความพร้อม โดยให้บริการลูกค้าตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ และเข้าไปเป็นพี่เลี้ยงให้กับบริษัทในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และพัฒนาธุรกิจให้มีมาตรฐาน มีโครงสร้าง และระบบการบริหารจัดการที่ดีขึ้น รวมทั้งมีระบบการควบคุมภายในที่ดี เพื่อให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้อย่างมั่นคง และยั่งยืน ไม่ว่าบริษัทนั้นจะมีเป้าหมายในการระดมทุนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ หรือไม่ก็ตาม เพราะถือว่าเราได้มีส่วนสำคัญในการเข้าไปพัฒนาและยกระดับมาตรฐานธุรกิจให้ลูกค้า และหากลูกค้ามีเป้าหมายที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็ถือเป็นการส่งต่อบริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่มีคุณภาพให้กับตลาดหุ้นไทยอีกด้วย

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (01 มิ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top