สศก. ชี้ไทยได้อานิสงส์จากวิกฤติอาหารโลก เพิ่มโอกาสส่งออกในฐานะครัวโลก

นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงสถานการณ์ด้านความมั่นคงอาหารในขณะนี้ว่า ราคาอาหารที่พุ่งขึ้นสูงเป็นประวัติการณ์ทั่วโลกในปัจจุบัน ส่งผลให้ประชากรประมาณ 193 ล้านคนทั่วโลก กำลังประสบปัญหาความไม่มั่นคงด้านอาหาร ซึ่งเกิดจากหลากหลายปัจจัย โดยส่วนหนึ่งเกิดจากแรงกดดันต่อตลาดอาหารทั่วโลก ซึ่งได้เกิดขึ้นมาระยะหนึ่งแล้ว และราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นในปี 64 ผลักดันให้ราคาปุ๋ยและเชื้อเพลิงสูงขึ้น ประกอบกับสภาพอากาศที่แห้งแล้ง ได้ทำลายพืชผลในประเทศผู้ผลิตอาหารขนาดใหญ่ เช่น บราซิล สหรัฐอเมริกา และแคนาดา เป็นต้น จนมาถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้เกิดความล่าช้าในการขนส่งและการค้าหยุดชะงัก

ขณะที่ล่าสุด สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างยูเครน-รัสเซีย ซึ่งทั้ง 2 ประเทศมีสัดส่วนการส่งออกข้าวสาลีประมาณ 30% ของการค้าข้าวสาลีทั่วโลก ยูเครนส่งออกน้ำมันดอกทานตะวันประมาณ 50% ของโลก และรัสเซียส่งออกปุ๋ย 20% ของโลก การคว่ำบาตรรัสเซียในครั้งนี้ จึงส่งผลให้ราคาพลังงานและปุ๋ยมีราคาสูงขึ้น

สศก. โดยศูนย์ข้อมูลเกษตรแห่งชาติ (ศกช.) ได้สรุปประเด็นสำคัญของวิกฤตการณ์อาหารโลก (Global Food Crisis) เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จากมุมมองของผู้เชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ประกอบด้วยประเด็นที่น่าจับตา เพราะหากพิจารณาแล้ว ประเทศทั่วโลกยังไม่ฟื้นตัวมากนักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปลายปี 63 ประกอบกับความขัดแย้งระหว่างรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทั้ง 2 ประเทศเป็นแหล่งทรัพยากร โดยเฉพาะข้าวสาลี ปุ๋ย ซึ่งมีการคาดการณ์ว่า ผลิตผลกว่า 19-34 ล้านตันจะหายไปในปีนี้ และจะหายถึง 43 ล้านตันในปี 66 สะท้อนให้เห็นว่า จะส่งผลกระทบต่อปริมาณแคลอรีที่บริโภคของคนกว่า 150 ล้านคน

อีกทั้งการส่งออกสินค้าไปขายต่างแดนผ่านท่าเรือในทะเลดำต้องหยุดชะงักลง จากการถูกเรือรบของรัสเซียปิดล้อม ดังนั้น หลายประเทศ เช่น มองโกเลีย อาเมเนีย อียิปต์ เยเมน ลิเบีย ปากีสถาน ตุรกี ซึ่งต้องพึ่งพาการนำเข้าอาหารและปัจจัยการผลิตทางการเกษตรจากรัสเซียและยูเครน จะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง นอกจากนี้ ภาวะสงคราม ยังส่งผลให้รัสเซีย ซึ่งถือเป็นผู้ส่งออกวัตถุดิบที่ใช้ในการทำปุ๋ยรายใหญ่ อย่างโพแทสและซัลเฟต งดการส่งออก ทำให้ราคาปุ๋ยต้องปรับขึ้นเช่นเดียวกัน

สำหรับสงครามรัสเซีย-ยูเครน ถือเป็นการจุดชนวนผลกระทบเศรษฐกิจโลกหลายด้าน โดยเฉพาะแนวโน้ม “วิกฤตอาหารโลก” ที่เขย่าความมั่นคงทางอาหาร และกำลังกลายเป็นกระแสผลักดันให้ประเทศผู้ผลิตอาหารออกนโยบาย “ห้ามส่งออก” เพื่อรักษาสมดุลอาหารเพื่อเลี้ยงคนในประเทศ ดังจะเห็นได้จากประเทศที่ห้ามส่งออกธัญพืชสำคัญและอาหารขณะนี้ นอกจากรัสเซีย-ยูเครนแล้ว ยังมีคาซัคสถาน จำกัดการส่งออกข้าวสาลีและแป้งสาลีเป็นการชั่วคราว ขณะที่อาร์เจนตินา จำกัดการส่งออกเนื้อวัว ยาวจนถึงปี 66 และล่าสุดอินเดีย ประกาศห้ามส่งออกข้าวสาลี

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกมาระบุว่า ขณะนี้มีประมาณ 30 ประเทศทั่วโลกได้ใช้มาตรการจำกัดการส่งออกอาหาร พลังงาน และสินค้าโภคภัณฑ์แล้ว เพื่อสร้างหลักประกันความมั่นคงทางอาหารให้กับคนในชาติของตน (Food Protectionism) และธนาคารโลก คาดการณ์ว่าปี 65 ราคาสินค้าทั่วโลกจะปรับตัวสูงขึ้น 37% สูงสุดในรอบ 60 ปี

อย่างไรก็ดี แม้ที่ผ่านมา โลกจะเคยเผชิญกับวิกฤตอาหารมาแล้วในช่วงปี 50-51 แต่อย่างไรก็ตาม ในปี 51 เป็นเพียงการขาดแคลนสินค้า (Commodity Shock) ขณะที่สถานการณ์ในปี 65 กำลังเผชิญทั้งการขาดแคลนสินค้า และการขาดแคลนปัจจัยการผลิต (Input Shock) ซึ่งสถานการณ์เช่นนี้ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญหลายประเทศกังวลว่า หากสงครามยังดำเนินต่อไป จะทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นและส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานอย่างมาก เพราะความมั่นคงทางอาหาร (Food Security) เป็นเรื่องที่สำคัญ นอกจากที่ทั่วโลกกำลังเผชิญกับภาวะโลกร้อนแล้ว ยังมาเผชิญกับสงครามความขัดแย้งครั้งนี้

ปัจจุบัน นักลงทุนให้ความสนใจด้านเทคโนโลยีการเกษตร (Agrotechnology) และเทคโนโลยีอาหาร (Food Tech) เช่น การใช้ผลผลิตให้เกิดประโยชน์สูงสุด (Biosolution) และการทำฟาร์มแนวตั้ง (Vertical Farming) เป็นต้น ในขณะเดียวกัน เกษตรกรก็ให้ความสนใจในการใช้ปุ๋ยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และลดขยะมูลฝอยให้น้อยลง ส่วนผู้บริโภคก็หันมาให้ความสนใจบริโภคโปรตีนทางเลือกมากขึ้น

สำหรับประเทศไทย ถือเป็นผู้ผลิตอาหารอันดับต้นๆ ของโลก จึงมีความพอเพียงของอาหารในการบริโภคภายในประเทศ และหากมองในมุมวิกฤตที่เกิดขึ้น สามารถเป็นโอกาสดีในการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารให้เติบโต ในฐานะแหล่งผลิตอาหารสำคัญ หรือครัวของโลก โดยจะเห็นได้จากการส่งออกสินค้าเกษตร 4 เดือนแรก ปี 65 (ม.ค.-เมย. 65) ที่เติบโตอย่างเห็นได้ชัดเมื่อเทียบกับปี 64 ในช่วงเวลาเดียวกัน

สินค้าเกษตรไทย สามารถส่งออกไปโลกเพิ่มขึ้นจาก 418,883 ล้านบาท เป็น 516,127 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 97,244 ล้านบาท หรือ 23.22%) กลุ่มสินค้าเกษตรส่งออกสำคัญ 10 อันดับแรก ได้แก่ ทุเรียน ข้าว ยางธรรมชาติ ไก่ปรุงแต่ง อาหารสุนัขหรือแมวปรุงแต่ง ปลาทูนาปรุงแต่ง สตาร์ชทำจากมันสำปะหลัง น้ำยางธรรมชาติ เครื่องดื่มที่ไม่มีแอลกอฮอล์ และอาหารปรุงแต่งอื่นๆ เช่น เต้าหู้

อย่างไรก็ตาม ไทยได้มีการวางแผนเตรียมความพร้อมด้านความมั่นคงอาหารทั้งระบบ ผ่านกลในรูปคณะกรรมการอาหารแห่งชาติ ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับด้านนโยบายอาหารของประเทศ โดยดำเนินงานผ่านคณะกรรมการขับเคลื่อนด้านต่างๆ 4 ด้าน คือ 1. ด้านความมั่นคงอาหารตลอดห่วงโซ่ 2. ด้านคุณภาพและความปลอดภัยด้านอาหาร 3. ด้านอาหารศึกษา (ให้ความรู้ในการบริโภคอาหารอย่างถูกต้องตามหลักโภชนาการ และ 4. ด้านการบริหารจัดการ (กฎหมาย โครงสร้างองค์กร และการบริหารงบประมาณ)

ในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบดูแลด้านการผลิตสินค้าเกษตร ซึ่งเป็นต้นทางของระบบการผลิตอาหาร ได้มีการวางแผนการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านความมั่นคงอาหาร โดยให้ความสำคัญกับการจัดการระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมและเชื่อมโยงกันทั้งระบบ (BIG DATA) การจัดทำปฏิทินผลผลิตสินค้าเกษตรรายเดือนระดับจังหวัด (Provincial Crop Calendar) ซึ่งจะช่วยสนับสนุนการวางแผนการกระจายสินค้าเกษตรและอาหาร ทำให้ภาครัฐสามารถวางแผนรองรับในสภาวะวิกฤติ และสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาชน

ขณะเดียวกัน เป็นการสนับสนุนเกษตรกรทำการเกษตรทฤษฎีใหม่ และหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะเป็นการสร้างการพึ่งพาตนเองด้านอาหาร เพื่อสร้างความมั่นคงอาหารในท้องถิ่นและลดผลกระทบที่เกิดจากปัญหาโลจิสติกส์ อันเนื่องมาจากการระบาดของโควิด-19 สร้างภูมิคุ้มกันให้เกษตรกรในการรับมือกับสภาวะวิกฤติอย่างยั่งยืนอีกด้วย

นอกจากนี้ การประชุมเอเปกที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี 65 กระทรวงเกษตรฯ รับผิดชอบกรอบการทำงานที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงอาหาร ซึ่งเป็นการแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นทางการเมืองในการส่งเสริมความมั่นคงอาหารในภูมิภาค ในร่างปฏิญญาฯ ไทยจะผลักดันประเด็นหลักที่จะช่วยสนับสนุนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก ด้านความปลอดภัยอาหาร ด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้านการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและ ด้านการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนอีกด้วย

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ มุ่งมั่นที่จะให้ภาคเกษตรไทยมีความมั่นคง ยั่งยืนและแข็งแกร่งภายใต้วิกฤติต่างๆ โดยต้องการปรับปรุงการผลิตสินค้าเกษตรไทยตามนโยบาย Next Normal 2022 ที่มุ่งเน้นการสร้างผลิตภัณฑ์การเกษตรมูลค่าสูงด้วย BCG Economy Model เช่น การนำผลพลอยได้และวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาใช้ผลิตพลังงาน การปลูกไม้เศรษฐกิจโตเร็วเพื่อพลังงาน การใช้พลังงานแสงอาทิตย์ในภาคเกษตร เป็นต้น จะช่วยให้เกษตรกรลดการพึ่งพาพลังงานของประเทศที่นับวันราคาพลังงานน้ำมันและก๊าซธรรมชาติจะสูงขึ้น เป็นการลดต้นทุนการผลิตและเพิ่มรายได้ ซึ่งจะเป็นการเพิ่มความมั่นคงและความสามารถในการแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืนร่วมกัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 มิ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top