รมว.คลัง คาดสรุปมาตรการล็อตใหม่ปลายมิ.ย. ส่งซิกเลิกเหวี่ยงแหเน้นช่วยเฉพาะกลุ่ม

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง กล่าวว่า นายสุพัฒนพงษ์ พันธุ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน ได้มอบหมายให้กระทรวงการคลัง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านเศรษฐกิจในระหว่างการประชุมร่วมกันเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ไปพิจารณามาตรการชุดใหม่ที่จะบรรเทาความเดือดร้อยของประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิดและราคาพลังงานพุ่งสูง โดยให้ได้ข้อสรุปภายในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมิ.ย.นี้

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นมองว่าความจำเป็นในการใช้มาตรการเหวี่ยงแหลดลงไปแล้ว อย่างเช่นมาตรการคนละครึ่ง เนื่องจากสถานการณ์โควิดคลี่คลายลงไปมากแล้ว เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวขึ้น รายได้ของประชาชนเริ่มกลับคืนมา ขณะที่รัฐบาลมีข้อจำกัดด้านงบประมาณที่จะนำมาใช้ เนื่องจากเงินกู้ที่จะนำมาลดกระทบให้กับประชาชนเหลืออีกราว 4 หมื่นกว่าล้านบาทเท่านั้น

ดังนั้น จึงต้องค่อย ๆ ปรับมาตรการด้านการคลังให้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ โดยคาดว่าจะเน้นการให้ความช่วยเหลือกับผู้เดือดร้อนเฉพาะกลุ่ม โดยเฉพาะจากราคาพลังงานที่พุ่งสูงขึ้นมากในขณะนี้

“ไม่ใช่ไม่เห็นด้วย แต่ในแง่ของความจำเป็นในการใช้มาตรการนี้ในช่วงที่เศรษฐกิจกำลังฟื้นตัวและรายได้เริ่มกลับเข้ามา เราเองและทุกประเทศก็ต้องดูรายได้ของรัฐบาลจะใช้จ่ายเหมือนเดิมไม่ได้ในภาวะปกติ…ในช่วงโควิดทุกคนไม่ปฏิเสธ แต่เมื่อความรุนแรงเรื่องผลกระทบมันน้อยลงไปเยอะ เมื่อเศรษฐกิจกลับมาทำงานได้ปกติ เราก็ควรจะถอนเรื่องพวกนี้ ทั่วโลกก็เป็นแบบนี้ ก็จะกลับมาดูเรื่องของรายได้…ถ้าทำคนละครึ่งก็ต้องเพิ่มหลายจุด ถ้าเพิ่มคนละครึ่งก็ต้องไปเพิ่มบัตรคนจนอีก ถึงใช้เงินเยอะ” นายอาคม กล่าวถึงความเป็นไปได้ในการนำมาตรการคนละครึ่งเฟส 5 มาใช้

รมว.คลัง กล่าวอีกว่า การนำมาตรการต่างๆ มาใช้ก่อนหน้านี้ขณะที่สถานการณ์รุนแรงนั้น มีเหตุผลเพียงพอที่จะนำเงินกู้ 1.5 ล้านล้านบาทมาใช้เพื่อเยียวยาผลกระทบให้ประชาชน ด้วยการเพิ่มกำลังซื้อ แต่เมื่อเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น กำลังซื้อเริ่มกลับเข้ามา ความจำเป็นตรงนี้ก็น้อยบลงไป

ทั้งนี้ สิ่งที่นายสุพัฒนพงษ์ให้โจทย์มา คือเน้นความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม 2 เรื่อง คือทั้งผลกระทบจากโควิดและราคาพลังงานที่มาปนกันอยู่ในขณะนี้ซึ่งกระทบกับกำลังซื้อทั้ง 2 ประเด็น โดยเน้นความช่วยเหลือเฉพาะกลุ่ม ส่วนมาตรการที่เหวี่ยงแบบทั่วไปคงต้องลดน้อยถอยลงไป อย่างเช่นให้โจทย์มาว่ากลุ่มผู้ขับขี่จักรยานยนต์รับจ้างจะช่วยต่อได้หรือไม่เพื่อลดค่าใข้จ่าย ต้องเป็นผู้ที่อยู่ในระบบเท่านั้น เหวี่ยงแหไม่ได้

นายอาคม ยังกล่าวอีกว่า สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อสูงเกิดขึ้นกับทุกประเทศ ซึ่งบางประเทศไม่ได้ให้ความช่วยเหลือประชาชน แต่ปล่อยให้เป็นไปตามกลไก เพราะเมื่อราคาสินค้าขึ้นไปแล้ว วันหนึ่งเมื่อดีมานด์เพิ่มขึ้นและซัพพลายก็จะเพิ่มขึ้นตาม ทำให้ราคาสินค้าปรับลดลงเอง

สำหรับประเทศไทยเมื่อราคาสินค้าปรับสูงขึ้น ขณะเดียวกันเราก็ขายสินค้าได้มากขึ้นด้วย ทำให้เศรษฐกิจยังสามารถเติบโตได้ แต่ภาวะเงินฝืดหมายความว่าสินค้าขึ้น เศรษฐกิจหดตัว คนว่างงาน แต่ของไทยเศรษฐกิจกำลังค่อย ๆ ฟื้น ซึ่งรัฐบาลก็ไม่ต้องการให้เศรษฐกิจเติบโตแบบก้าวกระโดดแล้วหัวทิ่มลงมาอีก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (13 มิ.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top