In Focus: สัมพันธ์จีน-สหรัฐยังคงคุกรุ่น แม้ร่วมโต๊ะเจรจาแชงกรี-ลา ไดอะล็อก

การประชุมสุดยอดความมั่นคงเอเชีย หรือแชงกรี-ลา ไดอะล็อก (Shangri-La Dialogue) ที่ประเทศสิงคโปร์เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นับเป็นเวทีที่บรรดารัฐมนตรีจากประเทศมหาอำนาจได้มาพบปะแบบเห็นหน้าค่าตากันหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย โดยทั้งก่อนหน้าและหลังจากการประชุมครั้งนี้ ผู้แทนฝั่งจีนและสหรัฐต่างก็ออกมาโต้ตอบกันอย่างน่าจับตาทั้งประเด็นเรื่องไต้หวัน อิทธิพลของจีน ทะเลจีนใต้ และบทบาทของสหรัฐ

หากจะพิจารณาบทบาทของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียแล้ว โครงการ Indo-Pacific Economic Framework ซึ่งเป็นโครงการที่ริเริ่มโดยประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐเมื่อวันที่ 23 พ.ค. 2565 นั้น ถือเป็นตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นว่า แม้ว่าสหรัฐจะมีเอี่ยวในสงครามยูเครน แต่สหรัฐก็ไม่ได้ละเลยอิทธิพลและบทบาทของจีนในภูมิภาคเอเชีย

ทั้งนี้ โครงการ Indo-Pacific Economic Framework ได้ถูกกล่าวถึงแบบอ้อม ๆ ในเวทีการประชุมที่สิงคโปร์ด้วยเช่นกัน โดยประเทศที่เข้าร่วมโครงการ Indo-Pacific Economic Framework ประกอบไปด้วยออสเตรเลีย บรูไน ฟิจิ อินเดีย อินโดนีเซีย ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย นิวซีแลนด์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ สหรัฐ เวียดนาม และไทย

 

*จีนยืนหยัดจุดยืน

พลเอกเว่ย เฟิ่งเหอ รัฐมนตรีกลาโหมจีนซึ่งเข้าร่วมการประชุมดังกล่าวได้กล่าวถึงสหรัฐว่า ภาระในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับสหรัฐนั้นตกเป็นหน้าที่ของสหรัฐ และยังได้ประณามสหรัฐว่า “ใส่ร้ายป้ายสีจีน” พร้อมทั้งกล่าวหาว่า สหรัฐกำลังพยายาม “จี้บังคับ” ประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก

รมว.กลาโหมจีนกล่าวกับผู้เข้าร่วมการประชุมดังกล่าวว่า ทางการจีนเรียกร้องให้สหรัฐหยุดใส่ร้ายป้ายสีให้จีนต้องแปดเปื้อน รวมถึงยุติการแทรกแซงกิจการภายในของจีน มิเช่นนั้นความสัมพันธ์ระดับทวิภาคีจะไม่สามารถฟื้นฟูได้

“แต่หากสหรัฐต้องการจะเผชิญหน้า เราก็พร้อมจะสู้เต็มที่ อย่างไรก็ตาม กองทัพทั้งสองประเทศควรร่วมมือกันเพื่อพัฒนาเสริมสร้างความสัมพันธ์ในเชิงบวก” พลเอกเว่ยกล่าว พร้อมเสริมว่า กลยุทธ์ใหม่ของประธานาธิบดีโจ ไบเดนของสหรัฐในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีแต่จะนำไปสู่ “ความขัดแย้งและการเผชิญหน้า”

 

*โครงการ Indo-Pacific Economic Framework

ปธน.ไบเดนต้องการให้โครงการ Indo-Pacific Economic Framework เป็นฉากทัศน์และกฎเกณฑ์ใหม่สำหรับเศรษฐกิจในศตวรรษที่ 21 โดยระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศที่เข้าร่วมโครงการจะขยายตัวเร็วขึ้นและมีความยุติธรรมมากยิ่งขึ้น

โครงการนี้ถูกเปรียบเทียบว่าคล้ายคลึงกับโครงการ Trans-Pacific Partnership ที่สหรัฐถอนตัวจากโครงการไปเมื่อปี 2560

โจเซฟ แมทธิวส์ ศาสตราจารย์อาวุโสของมหาวิทยาลัย BELTEI International University ในกรุงพนมเปญมองว่า ยุทธศาสตร์ของสหรัฐในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกคุกคามความเป็นหนึ่งเดียวกันของอาเซียนโดยตรง ขณะที่กลุ่มอาเซียนถือเป็นจิตวิญญาณของบรรดาประเทศสมาชิกอาเซียน

ศ.แมทธิวส์กล่าวต่อไปว่า โครงการ Indo-Pacific Economic Framework เองนั้น แทบจะไม่ใช่ข้อตกลงการค้า และเป็นโครงการที่จะไม่ส่งเสริมเศรษฐกิจและการพัฒนาทางสังคมในภูมิภาค

“สหรัฐจัดตั้งกลุ่มนี้ขึ้นมาเพื่อรับมือกับอิทธิพลของจีนในภูมิภาค อีกทั้งยังต้องการบ่อนทำลายความเป็นหนึ่งเดียวและความเป็นกลางของอาเซียน รวมทั้งจุดชนวนความขัดแย้งและความตึงเครียด อีกทั้งยังทำลายสันติภาพและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ” ศ.แมทธิวส์กล่าว

ขิ่น เพีย ผู้อำนวยการสถาบันความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของราชวิทยาลัยแห่งกัมพูชากล่าวกับสำนักข่าวซินหัวว่า สหรัฐได้พยายามที่ควบคุมและต้อนจีนให้จนมุมด้วยการจัดตั้งกลุ่มพันธมิตรขึ้นมาหลาย ๆ กลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มพันธมิตรด้านการทหารอย่างกลุ่ม AUKUS ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐ อังกฤษ และออสเตรเลีย, กลุ่ม Five Eyes Alliance ซึ่งประกอบไปด้วยสหรัฐ สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย แคนาดา และนิวซีแลนด์ ที่ว่ากันว่าเกิดขึ้นจากการหารือกันอย่างไม่เป็นทางการระหว่างสหรัฐและสหราชอาณาจักรในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และกลุ่ม Indo-Pacific Economic Framework

สวน แซม นักวิเคราะห์ด้านนโยบายของราชวิทยาลัยแห่งกัมพูชากล่าวว่า สหรัฐจะออกมาขัดขวางใครก็ตามที่สหรัฐมองว่าเข้ามาท้าทายจุดยืนในการเป็นประเทศมหาอำนาจของโลกเพียงหนึ่งเดียว และใช้ยุทธศาสตร์ใดก็ได้เพื่อที่จะเผชิญหน้ากับศัตรู แม้ว่าศัตรูต้องการเพียงแค่ร่วมมือหรืออยู่อย่างสันติก็ตาม

 

*ส่องมุมมองนักวิเคราะห์

คอลลิน โกห์ นักวิจัยของสถาบัน S Rajaratnam School of International Studies กล่าวว่า ทั้งสหรัฐและจีนต่างพุ่งเป้าไปที่การดำเนินการกับไต้หวัน และต้องการที่จะทำให้ประเทศของตนดูมั่นคงและแข็งแกร่ง แต่ทั้ง 2 ประเทศต่างก็ตระหนักถึงการก้าวเข้าสู่ความขัดแย้งด้วยเช่นกัน ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายเองก็พยายามหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความขัดแย้ง

โกห์กล่าวว่า การที่พลเอกเว่ย เฟิ่งเหอได้พบปะกับนายลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐนอกรอบการประชุมแชงกรี-ล่า ไดอะล็อกนั้น ถือเป็นสัญญาณที่ดี เพราะนั่นหมายความว่า สหรัฐและจีนต้องการที่จะแสดงให้เห็นว่า ทั้ง 2 ประเทศเต็มใจที่จะนั่งลงแล้วพูดคุยกัน เพื่อหาข้อสรุปต่าง ๆ ร่วมกัน

อย่างไรก็ตาม อนาคตความสัมพันธ์ของทั้งสหรัฐและจีนจะพัฒนาไปเป็นเช่นใดนั้น ก็ยังคงต้องติดตามดูกันต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 มิ.ย. 65)

Tags: , ,
Back to Top