รมว.พาณิชย์ เผย กกร.มีมติต่ออายุสินค้า-บริการควบคุม 51 รายการ อีก 1 ปี

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) มีมติให้ต่ออายุสินค้าและบริการควบคุมออกไปอีก 1 ปี โดยสินค้าควบคุมมีทั้งหมด 46 รายการ และบริการควบคุมอีก 5 รายการ รวมเป็น 51 รายการ ซึ่งจะมีการต่ออายุตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 – 30 มิ.ย.66

สินค้าและบริการควบคุมดังกล่าว ประกอบด้วย

  1. หมวดกระดาษและผลิตภัณฑ์ เช่น กระดาษลูกฟูก กระดาษเหนียว กระดาษพิมพ์และเขียน
  2. หมวดบริภัณฑ์ขนส่ง เช่น ยางรถจักรยานยนต์ ยางรถยนต์ รถจักรยานยนต์
  3. หมวดปัจจัยทางการเกษตร เช่น กากดีดีจีเอส เครื่องสูบน้ำ ปุ๋ย ยาป้องกันหรือกำจัดศัตรูพืชหรือโรคพืช หัวอาหารสัตว์ อาหารสัตว์
  4. หมวดผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียม ได้แก่ ก๊าซปิโตรเลียมเหลว น้ำมันเชื้อเพลิง
  5. หมวดยารักษาโรคและเวชภัณฑ์ได้แก่ ยารักษาโรค เวชภัณฑ์เกี่ยวกับการรักษาโรค
  6. หมวดวัสดุก่อสร้าง เช่น ท่อพีวีซี ปูนซีเมนต์ เหล็กโครงสร้างรูปพรรณ
  7. หมวดสินค้าเกษตร เช่น ข้าวเปลือก ข้าวสาร ข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ ข้าวโพด ผลปาล์มน้ำมัน มะพร้าวผลแก่
  8. หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค เช่น แชมพูผงซักฟอก น้ำยาซักฟอก ผลิตภัณฑ์ล้างจาน ผ้าอนามัย
  9. หมวดอาหาร เช่น ไข่ไก่ นมผง ผลิตภัณฑ์นมพร้อมบริโภคชนิดเหลว แป้งสาลี สุกร เนื้อสุกร
  10. หมวดอื่นๆ คือ เครื่องแบบนักเรียน
  11. หมวดบริการ เช่น บริการซื้อขาย และ/หรือบริการขนส่งสินค้าสำหรับธุรกิจออนไลน์ บริการรักษาพยาบาล บริการทางการแพทย์ บริการรับชำระเงิน ณ จุดบริการ

นอกจากที่ ที่ประชุม กกร.ยังพิจารณาประเด็นการจำหน่ายชุดตรวจการเชื้อโควิดด้วยตัวเอง (ATK) ซึ่งปัจจุบันกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อนุญาตให้จำหน่ายได้ใน 4 ช่องทาง คือ 1. สถานพยาบาล 2. หน่วยงานของรัฐ 3. ร้านขายยา 4. สถานที่อื่นๆ ที่เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กำหนด โดยปรับปรุงแก้ไขให้สามารถจำหน่ายได้ในทุกช่องทาง ทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีประกาศกำหนดแล้ว ดังนั้น กกร. จะได้ปรับปรุงรายละเอียดที่เกี่ยวข้องกับอำนาจหน้าที่ให้สอดคล้องกัน เพื่อให้ประชาชนสามารถหาซื้อ ATK ได้ในทุกช่องทาง ทั้งออฟไลน์และออนไลน์

อย่างไรก็ดี ในส่วนของราคาจำหน่ายชุดตรวจ ATK จากการสำรวจพบว่าราคาถูกลงมาก เช่น ราคาที่จำหน่ายในระบบออฟไลน์ตามร้านขายยา สถานพยาบาล ได้ปรับลดลงมาถึง 30% ส่วนราคาที่จำหน่ายในระบบออนไลน์ ปรับลดลงมาถึง 42%

นายจุรินทร์ ยังได้กล่าวถึงการดูแลราคาสินค้าว่า กระทรวงพาณิชย์จะขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้ช่วยตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด ตราบเท่าที่ผู้ประกอบการยังพออยู่ได้ และไม่ขาดทุนจนหยุดผลิต โดยยอมรับว่าการบริหารจัดการให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่าย เป็นเรื่องยาก และเป็นประเด็นที่กระทรวงพาณิชย์ต้องดูแลด้วยความระมัดระวัง อย่างไรก็ดี จากที่ติดตามสถานการณ์ในขณะนี้ ยังไม่พบว่ามีสินค้าใดขาดตลาด

ส่วนสินค้าน้ำมันพืช โดยเฉพาะน้ำมันปาล์มขณะนี้ตั้งอนุกรรมการ 5 ฝ่ายแล้ว ประกอบด้วย ตัวแทนเกษตรกร ตัวแทนโรงสกัด ตัวแทนโรงกลั่นน้ำมันบรรจุขวด ตัวแทนผู้ส่งออก และตัวแทนส่วนราชการ ซึ่งจะมีอำนาจหน้าที่ติดตามกำกับดูแลว่าควรกำหนดสต๊อกน้ำมันปาล์มสำหรับการบริโภค รวมทั้งดูแลให้เกิดความสมดุล ทั้งปริมาณการผลิตผลปาล์ม การสกัด การผลิตน้ำมันเพื่อบริโภค

“เท่าที่ติดตาม ยังไม่มีสินค้าขาดตลาด ซึ่งมีสินค้าขอขึ้นราคาในบางรายการ กระทรวงต้องดูในรายละเอียด ไม่ใช่ยื่นแล้วจะอนุญาตได้เลย ต้องดูลึกๆ ในแต่ละตัวว่าต้นทุนเพิ่มขึ้นในปริมาณเท่าใด ถ้าต้องขึ้นราคา ต้องเป็นอย่างไร…มีการขอปรับขึ้นมาในสินค้าอุปโภคบริโภคบางรายการ ส่วนใหญ่เราพยายามตรึงราคาไว้ ที่ผ่านมา ตรึงมาหลายเดือนแล้ว เพราะถ้าปล่อยให้ตามปกติ เช่น แทนที่ราคาจะไปที่ 20 บาท อาจไปถึง 25-30 บาท เราพยายามตรึงไว้ ถ้าปรับลดลงได้ ก็จะปรับลด” รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์

ส่วนสินค้าบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปนั้น แม้จะมีการขอปรับขึ้นราคาหลายครั้ง แต่ขณะนี้กระทรวงพาณิชย์ยังไม่มีการอนุญาต และยังขอความร่วมมือผู้ประกอบการให้พยายามตรึงราคาไว้ให้นานที่สุด

“ผู้ประกอบการก็ให้ความร่วมมืออย่างดี เพราะต่างทราบว่าจะกระทบกับประชาชนจำนวนมาก ผู้มีรายได้น้อยจำนวนมาก ที่ต้องพึ่งบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ต้องขอบคุณผู้ประกอบการที่ช่วยตรึงราคาไว้” นายจุรินทร์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (16 มิ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top