นายกฯ เร่งผลักดันนโยบาย BCG สู่การปฏิบัติ กระจายรายได้-แก้ปัญหาปากท้อง

นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งกระจายรายได้สู่ประชาชน แก้ไขปัญหาเศรษฐกิจปากท้องให้ทั่วถึง เห็นผลอย่างเป็นรูปธรรม ผ่าน “โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG” ให้ครอบคลุม 7,435 ตำบลทั่วประเทศ โดยจะใช้ประโยชน์สูงสุดจากฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของชุมชน (Thailand Community Big Data : TCD) ที่พัฒนาไว้ และทำให้ต่อเนื่องสมบูรณ์ทุกพื้นที่ เพื่อสร้างรายได้ พัฒนาเศรษฐกิจฐานรากให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

โครงการดังกล่าวเป็นการต่อยอดผลสำเร็จจาก โครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ (U2T for BCG and Regional Development) หรือ “1 ตำบล 1 มหาวิทยาลัย (U2T BCG: University to Tambon) ในปี 2564 ซึ่งให้ผลตอบแทนทางสังคมกว่า 4.75 เท่า หรือประมาณ 50,000 ล้านบาท จากการจ้างงานมากกว่า 58,000 คน ส่งผลให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมกว่า 10,088 กิจกรรม ในพื้นที่ 3,000 ตำบล ซึ่งเมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้อนุมัติโครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานราก หลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG โดยมีเป้าหมายสำคัญ ได้แก่

  1. การเพิ่มศักยภาพและขีดความสามารถในการแข่งขัน ของภาคการผลิตและบริการด้าน BCG ด้วยองค์ความรู้ เทคโนโลยี และนวัตกรรม กว่า 15,000 กิจกรรม
  2. การเพิ่มการจ้างงานบัณฑิตจบใหม่ และประชาชนในพื้นที่ รวมทั้งการ Upskill/Reskill ทักษะพื้นฐานที่จำเป็น และทักษะที่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจ BCG เกือบ 70,000 คน
  3. การสร้างมูลค่าเพิ่มจากผลิตภัณฑ์และบริการของชุมชน ไม่น้อยกว่า 10% จาก 4,500 รายการ
  4. การสร้างการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจในพื้นที่ ไม่น้อยกว่า 600 ล้านบาท/เดือน

นายธนกร กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญกับการสร้างรากฐาน และการส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นลำดับแรก โดยได้ดำเนินการต่อเนื่องมาโดยตลอด ตามยุทธศาสตร์ผ่านการประเมินสถานการณ์วางแนวทาง โดยเชื่อว่าการประยุกต์นโยบายเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว จะสามารถสร้างรายได้ให้แก่ประชาชนได้อย่างเต็มศักยภาพและยั่งยืน ซึ่งสินค้าและบริการของชุมชนต่าง ๆ ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น การถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตและบริการ การส่งเสริมการขยายและการตลาดทั้งแบบ online/offline การยกระดับมาตรฐานสินค้าและบริการ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพให้ประชาชนสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไป

ทั้งนี้ โครงการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมฐานรากหลังโควิดด้วยเศรษฐกิจ BCG มีวัตถุประสงค์ในการจัดสรรบุคลากรที่มีศักยภาพ ทั้งที่อยู่ในระหว่างการหางาน หรือกำลังทำงานอยู่ในปัจจุบัน เพื่อช่วยเหลือชุมชนให้มีการเติบโตและสร้างรายได้ให้เพิ่มขึ้น โดยเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันระหว่างมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนกว่า 98 แห่ง ร่วมกับบัณทิตจบใหม่และประชาชนในพื้นที่ ตลอดจนภาคประชาสังคม หน่วยงานในพื้นที่ ขับเคลื่อนโครงการในระยะเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือน ก.ค. – ก.ย. 65

โดยบัณทิตจบใหม่ และประชาชนในพื้นที่ที่สนใจ สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการได้ที่เว็บไซต์ www.u2t.ac.th ของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 มิ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top