นักวิเคราะห์คาดตลาดอสังหาฯทรุดเสี่ยงทำเศรษฐกิจจีนถดถอยมากกว่าโควิด

การทรุดตัวของตลาดอสังหาริมทรัพย์จีนมีแนวโน้มที่จะสะท้อนนัยยะทางเศรษฐกิจมากกว่าที่เป็นอยู่ ขณะที่ทั่วโลกต่างจับตามองผลกระทบจากการล็อกดาวน์ทางเศรษฐกิจในเซี่ยงไฮ้และปักกิ่ง

สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ดัชนีชี้วัดยอดขายอพาร์ทเมนต์และบ้านของจีน ร่วงลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นสถิติที่ร่วงลงยาวนานที่สุดนับตั้งแต่จีนพัฒนาตลาดอสังหาริมทรัพย์เมื่อช่วงทศวรรษ 1990 ขณะที่ดีมานด์ด้านการบริการและสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการก่อสร้างบ้านและยอดขายบ้านคิดเป็นสัดส่วน 20% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP)

“นี่เป็นช่วงขาลงครั้งรุนแรงที่สุดของธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ช่วงระยะเวลาการหดตัวยังกินเวลานานกว่าเมื่อปี 2551 และ 2557 ซึ่งส่งผลกระทบต่อตลาดสินค้าโภคภัณฑ์ทั่วโลก เนื่องจากจีนมีความต้องการนำเข้าเหล็กและทองแดงลดลง” นายลู่ ถิง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของโนมูระ โฮลดิงส์ กล่าว

แม้จะมีการคาดการณ์ว่า ยอดขายบ้านในจีนจะกระเตื้องขึ้นบ้างเล็กน้อยในปีนี้ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นผ่อนคลายมาตรการควบคุมต่าง ๆ เพื่อสนับสุนการขยายตัว แต่การล็อกดาวน์ในเซี่ยงไฮ้และอีกหลายเมืองเมื่อช่วงเดือนมี.ค. ได้ส่งผลให้ภาคอสังหาริมทรัพย์ในปีนี้หดตัวรุนแรงกว่าปี 2564

ถึงแม้ว่าเมืองใหญ่หลายแห่งจะผ่อนคลายข้อจำกัดในการซื้อบ้านเมื่อช่วงเดือนที่ผ่านมา ส่วนธนาคารกลางจีน (PBOC) ก็ได้ปรับลดอัตราดอกเบี้ยจำนองลงในเดือนพ.ค. แต่ยอดขายบ้านในเมืองใหญ่ก็ยังดิ่งลงกว่า 40% จากเดือนพ.ค. เนื่องจากมาตรการล็อกดาวน์ส่งผลให้ธุรกิจต่าง ๆ ต้องหยุดทำการและมีจำนวนผู้ว่างงานเพิ่มขึ้น

ไอริส พ่าง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของไอเอ็นจี กรุ๊ป ให้ความเห็นว่า “อัตราการจ้างงานจำเป็นต้องฟื้นตัวขึ้นก่อน ดีมานด์จึงฟื้นตาม ซึ่งขึ้นอยู่กับแนวโน้มการล็อกดาวน์ในอนาคตจะเป็นอย่างไร” โดยนักวิเคราะห์รายนี้ไม่คิดว่ายอดขายอสังหาริมทรัพย์จะฟื้นตัวได้จนกว่าจะถึงปี 2566

ทางด้านโกลด์แมน แซคส์ ระบุว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนนั้น คาดว่าจะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนหดตัวลง 1.4% ในปีนี้ น้อยกว่าผลกระทบจากการใช้นโยบายควบคุมโควิด-19 ซึ่งมีสัดส่วนเพียง 0.2% เท่านั้น โดยการชะลอตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์จะทำให้เป้าหมายการเติบโตที่จีนตั้งไว้ที่ 5.5% ในปี 2565 นั้นยากจะสำเร็จ ขณะที่นักวิเคราะห์บางคนคาดว่า แม้ในระดับ 3% ก็ยังทำได้ยาก

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top