ตลท.เผย Startup-SME นับ 10 จ่อยื่นไฟลิ่งเข้า LiVEx กูรูแนะกลุ่มเทคฯ-บล็อกเชน-เกษตร

นายประพันธ์ เจริญประวัติ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) และ ผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) กล่าวในงานสัมมนา “โอกาสลงทุนหุ้น SMEs และ Startups กับตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์” ว่า ความคืบหน้าภายหลังจากการประกาศบังคับใช้เกณฑ์การจดทะเบียนและการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ไลฟ์เอ็กซ์เช้นจ์ (LiVEx) ในวันที่ 31 มี.ค.ที่ผ่านมา หลังจากมีบริษัทแรกยื่น Filing เข้า LiVEx แล้วคือ บมจ.แอดวานซ์ เว็บ เซอร์วิส (AWS) ผู้ให้บริการออกแบบพัฒนา Digital Technology ซึ่งขณะนี้อยู่ในกระบวนการตอบข้อซักถาม (Public Opinion) ยังมีอีกประมาณ 10 บริษัทที่กำลังเตรียมความพร้อมในการยื่น Filing เพื่อเข้ามาจดทะเบียนในกระดาน LiVEx อีกในอนาคต

“ตลาดหลักทรัพย์ถือว่าเป็นเสาหลักของเศรษฐกิจในประเทศไทย สำหรับกระดาน LiVEx ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการเปิดโอกาสให้กับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups เชื่อว่าหลายบริษัทที่กำลังจะเข้ามาจดทะเบียนใน LiVEx จะสามารถเติบโตและก้าวต่อไปในตลาด mai หรือ SET ได้ รวมไปถึงเป็นโอกาสสร้างผลตอบแทนสำหรับผู้ลงทุนเช่นกัน แต่อย่างไรก็ตามจะต้องศึกษาข้อมูลและความเสี่ยงให้ครอบคลุมอีกด้วย”

นายประพันธ์ กล่าว

นายไพบูลย์ ดำรงวารี ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ 2 สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า กฎเกณฑ์ในการระดมทุนและจดทะเบียนใน LiVEx มีความเหมาะสมสำหรับผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตแก่ผู้ประกอบการได้ ในส่วนของประเภทผู้ลงทุนใน LiVEx จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนและความเสี่ยงอย่างเพียงพอ ยกตัวอย่างเช่น ผู้จัดการกองทุน, นักวิเคราะห์การลงทุน เป็นต้น

“เนื่องจากกฎเกณฑ์ของกระดาน LiVEx มีความผ่อนปรนมากกว่า mai และ SET ทั้งการมีระบบซื้อขายที่ต่างกัน เช่น การซื้อขายไม่มีการกำหนด Ceiling&Floor และ Circuit Breaker รวมไปถึงความเสี่ยงด้านความไม่แน่นอนของผลประกอบการ เนื่องจากขนาดของกิจการที่มีขนาดเล็ก จึงทำให้ผู้ลงทุนใน LiVEx จะต้องเป็นผู้ที่มีพื้นฐานความรู้ความเข้าใจเรื่องการลงทุนและสามารถรับมือกับความเสี่ยงได้”

นายไพบูลย์ กล่าว

นายณัฐพล สุวรรณสิริ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายกลยุทธ์ธุรกิจ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) กล่าวว่า จากกฎเกณฑ์ใน LiVEx ที่มีความยืดหยุ่นกว่า รวมไปถึงระบบตรวจสอบเอกสารต่าง ๆ ที่ดำเนินการแบบ Digital ผ่าน https://www.live-platforms.com/ ทำให้ขั้นตอนและระยะเวลาการเสนอขายหุ้นและเข้าจดทะเบียนของ LiVEx อยู่ที่ประมาณ 45-60 วัน ถือว่ากระชับกว่าหากเทียบกับ mai หรือ SET นับว่าเป็นผลดีต่อผู้ประกอบการ SMEs และ Startups ที่จะสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้อย่างรวดเร็ว

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บล.บัวหลวง ในฐานะนายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ไทย กล่าวว่า เนื่องด้วยกฎเกณฑ์ใน LiVEx ที่ค่อนข้างจะผ่อนปรน ทำให้มีความเสี่ยงค่อนข้างมาก ดังนั้นระบบตรวจสอบต่าง ๆ จะต้องมีประสิทธิภาพเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ลงทุน รวมถึงตัวของผู้ลงทุนเองก็จะต้องศึกษาข้อมูลต่าง ๆ อย่างละเอียด ซึ่งในปัจจุบันที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ง่ายก็จะทำให้ผู้ลงทุนสามารถอัพเดทข้อมูลได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น

ด้านนายชัชวาลย์ เจียรวนนท์ ในฐานะผู้มีประสบการณ์ลงทุนในบริษัท SMEs และ Startups กล่าวว่า กระดาน LiVEx จะเป็นสิ่งที่ช่วยแก้ปัญหาสำหรับผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการเติบโตแต่เข้าถึงแหล่งเงินทุนค่อนข้างลำบาก ซึ่งถ้าผู้ประกอบการเติบโต ผู้ลงทุนก็จะเติบโตตามไปด้วย พร้อมแนะนำให้ลงทุนในบริษัท SMEs และ Startups ที่ดำเนินธุรกิจในเทรนด์ที่กำลังเติบโตอย่าง เทคโนโลยี, บล็อกเชน, การเกษตร เช่น พืชกัญชง-กัญชา เป็นต้น รวมถึงจะต้องเลือกบริษัทที่สามารถใช้เทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ให้สามารถเติบโตและขยายตลาดไปได้มากขึ้น

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (23 มิ.ย. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top