แบงก์ใหญ่สหรัฐแห่เพิ่มจ่ายเงินปันผลหลังผ่านทดสอบ Stress Test

ธนาคารรายใหญ่ 4 แห่งของสหรัฐซึ่งได้แก่ มอร์แกน สแตนลีย์, โกลด์แมน แซคส์, แบงก์ ออฟ อเมริกา และเวลส์ ฟาร์โก ประกาศเพิ่มการจ่ายเงินปันผลในวันจันทร์ (27 มิ.ย.) หลังจากธนาคารเหล่านี้ผ่านการทดสอบภาวะวิกฤต (Stress Test)

ทั้งนี้ โกลด์แมน แซคส์ประกาศว่าจะเพิ่มการจ่ายเงินปันผล 25% สู่ระดับ 2.50 ดอลลาร์/หุ้น ขณะที่มอร์แกน สแตนลีย์ ประกาศแผนเพิ่มการจ่ายเงินปันผลสู่ระดับ 77.5 เซนต์/หุ้นและมีแผนที่จะซื้อหุ้นคืนมูลค่า 2 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่วนแบงก์ ออฟ อเมริกัน ได้ปรับเพิ่มการจ่ายเงินปันผล 5% สู่ระดับ 22 เซนต์/ดอลลาร์ และเวลส์ ฟาร์โก ประกาศแผนเพิ่มการจ่ายเงินปันผลเป็น 30 เซนต์/หุ้น จากเดิม 25 เซนต์/หุ้น

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ข่าวดังกล่าวส่งผลให้ราคาหุ้นมอร์แกน สแตนลีย์ พุ่งขึ้น 3.5% และหุ้นโกลด์แมน แซคส์ ดีดตัวขึ้น 1.4% ในการซื้อขายนอกเวลาทำการที่ตลาดหุ้นนิวยอร์กช่วงเช้าวันนี้

ส่วนเจพีมอร์แกนระบุว่า ธนาคารจะคงตัวเลขการจ่ายเงินปันผลไว้ที่ 1 ดอลลาร์/หุ้น และซิตี้กรุ๊ปยืนยันว่าจะคงตัวเลขเงินปันผลที่ 51 เซนต์/หุ้น โดยระบุว่า สภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจที่ท้าทายอาจทำให้ธนาคารต้องเพิ่มฐานเงินทุนในวันข้างหน้า

ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เปิดเผยผลการทดสอบภาวะวิกฤตประจำปีของภาคธนาคารเมื่อวันที่ 23 มิ.ย.ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ธนาคารส่วนใหญ่ของสหรัฐมีฐานเงินทุนที่แข็งแกร่งเพียงพอต่อการรับมือกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวลงอย่างรุนแรง ซึ่งจะเปิดทางให้ธนาคารต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงเจพีมอร์แกน เชส, แบงก์ ออฟ อเมริกา, เวลส์ ฟาร์โก, ซิตี้กรุ๊ป, มอร์แกน สแตนลีย์ และโกลด์แมน แซคส์ สามารถใช้เงินทุนส่วนเกินเหล่านี้ในการซื้อหุ้นคืนและจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น

การทดสอบ Stress Test ของเฟดครอบคลุมถึงการประเมินว่า ธนาคารต่าง ๆ มีความปลอดภัยที่จะดำเนินการตามแผนการใช้จ่ายเงินทุนหรือไม่ ซึ่งรวมถึงการจ่ายเงินปันผล และการใช้จ่ายอื่น ๆ นอกเหนือจากการตั้งสำรองหนี้เสีย โดยการทดสอบดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้เงินภาษีของประชาชนมาอุ้มธนาคารต่าง ๆ เหมือนในช่วงที่เกิดวิกฤติการเงินปี 2550-2552

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top