คอรัล ไลฟ์ วางเป้าเข้าตลาดหุ้นใน 3-5 ปีหลังประกาศรุกธุรกิจสีเขียวอาเซียน

นายเทพฤทธิ์ ทิพย์ชัชวาลวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท คอรัล ไลฟ์ จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทวางเป้าหมายจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ภายในอีก 3-5 ปีข้างหน้า หลังจากประกาศทิศทางธุรกิจชัดเจนในการชิงตลาดธุรกิจสีเขียวในอาเซียน หลังคว้างานใหญ่จาก บมจ.ปตท. (PTT) ให้สร้างอาคารสำนักงานในโรงแยกก๊าซฯ ที่ 7 ที่มาบตาพุดให้เป็นอาคารประหยัดพลังงาน

นายเทพฤทธิ์ กล่าวว่า คอรัล ไลฟ์ ก่อตั้งขึ้นในปี 60 โดยใน 3 ปีแรกได้ใช้เวลาและลงทุนไปกับการทำวิจัยและพัฒนา จากนั้นได้ตัดสินใจเลือกร่วมงานกับสถาบัน Passive House ที่ประเทศเยอรมนี ซึ่งเป็นสถาบันอิสระที่ได้รับการยอมรับในเรื่องอาคารประหยัดพลังงานและคุณภาพอากาศภายใน และสร้างความร่วมมือกับอีก 5 บริษัทผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างและเครื่องกรองอากาศในต่างประเทศ คือ Saint-Gobain (ฝรั่งเศส), Zehnder (เยอรมนี), Schuco (สวิตเซอร์แลนด์, SIGA (สวิตเซอร์แลนด์) และ NorthGlass (จีน)

บริษัทได้สร้างบ้านตัวอย่างเพื่อทดลองว่านวตกรรมที่คิดค้นนั้นใช้ได้จริง โดยสร้างบ้านขนาด 200 ตารางเมตร สองชั้น สามห้องนอน ตั้งอยู่บนถนนกรุงเทพกรีฑา ก่อสร้างและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆตามนวัตกรรมของคอรัลไลฟ์ และได้เปิดเครื่องปรับอากาศ เครื่องกรองอากาศตลอด 24 ชั่วโมง มาตลอด 3 ปีครึ่ง จนถึงทุกวันนี้ ได้มีการเก็บข้อมูลอุณหภูมิและคุณภาพอากาศทั้งภายในและภายนอกบ้าน รวมทั้งการใช้ไฟฟ้า จนพบว่าค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าของบ้านหลังดังกล่าวอยู่ที่ 5,400 kwh ต่อปี ซึ่งคิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 2,000 บาท/เดือน

สำหรับการปรับอากาศและกรองอากาศทุกห้องในบ้านตลอด 24 ชั่วโมง ทุกวัน ซึ่งหากเทียบกับบ้านขนาดเดียวกันทั่วไป จะมีค่าเฉลี่ยการใช้ไฟฟ้าอยู่ที่ 32,400 kwh ต่อปี ซึ่งคิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 10,000 บาท/เดือน จนแน่ใจว่านวตกรรมของบริษัทสามารถประหยัดพลังงานตั้งแต่ 70% ขึ้นไป อุณหภูมิและคุณภาพอากาศภายในอาคารถูกควบคุมด้วยระบบอัตโนมัติที่ทำงานคู่กับข้อมูลที่ได้จากเซ็นเซอร์ต่างๆ ให้เย็นสบายและสดชื่นตลอด 24 ชั่วโมง

“ในกรณีของอาคาร Administration building 2,460 ตารางเมตร ในโรงแยกก๊าซหน่วยที่7 นี้ เราสามารถลดจำนวนปริมาณ BTU ได้ 84% จาก 3,109,600 BTU หากเป็นการสร้างอาคารแบบ Conventional เหลือ 506,000 BTU การใช้พลังงานไฟฟ้าลดจาก 1,497,397 kwh/ปี เหลือ 379,008 kwh/ปี หรือลดลง 75% ถ้าคิดเป็นเงินราว 4.7 ล้านบาท/ปี”

นายเทพฤทธิ์ กล่าว

สำหรับการออกแบบอาคารโรงงานในโครงการแยกก๊าซฯ หน่วยที่ 7 ให้กับ PTT ยังสามารถสะสมคาร์บอนเครดิต 525.6 ตัน/ปี ถ้าคำนวณตามราคาซื้อขายที่ตลาดยุโรปก็จะได้ 1.54 ล้านบาท/ปี และอาคารหลังนี้ก็จะได้รับการรับรองมาตรฐานของ Passive House ของประเทศเยอรมนี

นายเทพฤทธิ์ กล่าวอีกว่า บริษัทมีความมุ่งมั่นในการรองรับการเข้าสู่ Green Economy โดยเป็นผู้ออกแบบและติดตั้งโทเทิลโซลูชั่น (Total Solution) สำหรับอาคารและบ้านพักอาศัยทุกประเภท ปัจจุบันเริ่มดำเนินการก่อสร้างอยู่ 5 โครงการ และรายได้ในปี 64 ทำได้ 55 ล้านบาท และในปี 65 คาดว่าจะมีรายได้ 200 ล้านบาท โดยจะมีมูลค่างานในมือ (Backlog) อีกราว 300 ล้านบาท และเชื่อว่า Business Model ของบริษัทในการเน้นการสร้างความร่วมมือกับผู้ออกแบบ ผู้รับเหมา ผู้ผลิตวัสดุก่อสร้าง และองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมและอากาศ จะทำให้เราสามารถเติบโตได้แบบก้าวกระโดดอย่างยั่งยืน

“ถ้าให้ผมวางเป้าผมคิดว่าข้อดีต่างๆของโซลูชั่นของเราที่มีต่อลูกค้า คู่ค้า สังคมและสิ่งแวดล้อม น่าจะทำให้เราสามารถได้ส่วนแบ่งตลาดของการก่อสร้างราว 2.5% ในเวลา 5 ปี ก็คือ 2.5% ของ 1.3 ล้านล้านบาท หรือกว่า 3.2 s,njoล้านบาท และเราก็ต้องการจะขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซี่ยน เนื่องจากเราเป็นรายแรกในประเทศเขตร้อนชื้น ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานของสถาบัน Passive House เราได้ส่งข้อมูลที่เราเก็บจากบ้านตัวอย่างไปให้ทางสถาบันทำการวิจัยและพัฒนาร่วมกับเรา เรามีความร่วมมือกับผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างที่เราเลือกสรร โดยบางเจ้าให้เราเป็นผู้จัดจำหน่ายในประเทศไทยและในภูมิภาคอาเซียน”

นายเทพฤทธ์ กล่าว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (28 มิ.ย. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top