อนุสรณ์มองศก.ไทยเสี่ยงต่ำจะวิกฤติเหมือนปี 40 แต่ระวังหนี้สาธารณะ-หนี้ครัวเรือนสูง

นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติ ปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวถึงความเป็นไปได้ของเศรษฐกิจไทยที่จะเกิดวิกฤติเศรษฐกิจการเงินแบบปี 2540 ในขณะนี้ ว่า มีความเสี่ยงค่อนข้างต่ำที่ประเทศไทยจะเผชิญสภาวะวิกฤติเศรษฐกิจการเงินที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 25 ปีที่แล้ว แม้นไทยจะมีการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดต่อเนื่อง 2 ปีต่อเนื่องก็ตาม ปัญหาเกิดจากการปิดประเทศจากปัญหาโควิดและน้ำมันแพง เมื่อไทยเริ่มเปิดประเทศปัญหาการขาดดุลบัญชีเดินสะพัดจะลดลงเรื่อยๆและน่าจะกลายมาเป็นบวกได้ในช่วงปลายปีและราคาน้ำมันน่าจะปรับตัวลดลงในช่วงต้นปีหน้า คาดไทยเกินดุลการค้าปีนี้ได้เช่นเดียวกับสองปีก่อนหน้านี้ และการส่งออกยังขยายตัวดีแต่อาจไม่ถึง 6% วิกฤติอาหารโลกกลายเป็นโอกาสของสินค้าเกษตรส่งออกของไทย

ส่วนหนี้สินต่างประเทศของไทยทั้งภาครัฐและภาคเอกชนอยู่ในระดับต่ำมากเมื่อเทียบกับระดับหนี้ต่างประเทศของไทยช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ปี 2540 ช่วงก่อนเกิดวิกฤตการณ์เศรษฐกิจปี 2540 หนี้ต่างประเทศอยู่ในระดับสูงกว่าทุนสำรองระหว่างประเทศ ช่วงสามปีก่อนเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีอยู่ที่ประมาณ 66% และพุ่งขึ้นเป็น 92% ในปี พ.ศ. 2541 จากการที่เงินบาทอ่อนค่าอย่างรุนแรง

ขณะนี้แม้นทุนสำรองของไทยจะมีมากกว่าหนี้ต่างประเทศถึง 1.3 เท่าโดยประมาณและหนี้ต่างประเทศปี พ.ศ. 2564-2565 ก็อยู่ที่ประมาณ 38-39% ของจีดีพี ประมาณ 1.9 แสนล้านดอลลาร์ หนี้ต่างประเทศเป็นหนี้ระยะสั้น ประมาณ 36-37% เป็นเรื่องที่ต้องจับตาว่า หากสภาพคล่องในระบบการเงินโลกลดลงมาก

หนี้ระยะสั้นต่างประเทศเหล่านี้อาจถูกเรียกคืนและสร้างแรงกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงอีกได้ในช่วง 2-3 เดือนข้างหน้า และหากธนาคารกลางสหรัฐอเมริกาปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.50% ในการประชุมเดือนกรกฎาคมนี้ จะทำให้เงินลงทุนระยะสั้นไหลออกมากขึ้น เราอาจได้เห็นเงินบาทอ่อนค่าแตะระดับ 36-37 บาทต่อดอลลาร์ในระยะ 2-3 เดือนข้างหน้า

ช่วงปี พ.ศ. 2530-2539 ไทยประสบปัญหาขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรังต่อเนื่องร่วมสิบปีจากช่องว่างเงินออมและเงินลงทุนขยายการลงทุนเกินตัว เศรษฐกิจร้อนแรง เกิดภาวะฟองสบู่ การขาดดุลบัญชีเดินสะพัดดังกล่าวเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 5-6% ต่อจีดีพี บางปีขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกือบ 8% ของจีดีพี การใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่แบบตะกร้าเงินจึงไม่สามารถเป็นกลไกปรับความไม่สมดุลของภาคเศรษฐกิจต่างประเทศได้ดีพอ ประกอบกับมีการเปิดเสรีทางการเงิน เงินทุนระยะสั้นเก็งกำไรจึงไหลเข้าจำนวนมาก

เวลานี้ ไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแล้ว กลไกของเงินบาทจะช่วยปรับสมดุลทางเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ

โดยเฉพาะในส่วนของดุลการชำระเงิน เมื่อดุลบัญชีเงินสะพัดขาดดุลมาก เงินบาทจะอ่อนค่าเกิดจะเกิดการปรับสมดุล อย่างไรก็ตาม ในปี พ.ศ. 2565 ดุลบัญชีเดินสะพัดทั้งปีแนวโน้มขาดดุล 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คิดเป็น -1.5% ของ GDP ต่อเนื่องจากการขาดดุล 1.06 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ -2.1 ของ GDP% ในปี 2564

ปลายปีจะดีขึ้นชัดเจนทั้งจากดุลการค้าเกินดุลต่อเนื่องและรายได้ท่องเที่ยวต่างประเทศเริ่มทะยอยไหลเข้ามากขึ้น และ คาดการณ์ว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดของไทยจะกลับมาเป็นบวกและเกินดุลได้ในปี พ.ศ. 2566 และเงินบาทน่าจะแข็งค่าขึ้นกลับมาอยู่ที่ระดับ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ได้

สิ่งที่น่าเป็นห่วงเป็นเรื่องหนี้สาธารณะไม่ใช่หนี้เอกชน หนี้ต่างประเทศเอกชนช่วงก่อนวิกฤติปี 2540 อยู่ในระดับสูงมากและมีสัดส่วนหนี้ระยะสั้นสูงมากๆ สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีอยู่ที่ 64.80-69.80 ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่างประเทศของไทยอยู่ที่ 174,666 ล้านบาท (ประมาณ 5,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้น) หนี้ต่างประเทศของภาคเอกชนยังไม่สูงมาก ส่วนใหญ่กู้ในประเทศ และมีแนวโน้ม ตลาดหุ้นกู้ภายในประเทศเติบโตเพิ่มรับมือทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้น

สัดส่วนหนี้ต่างประเทศต่อจีดีพีอยู่ที่ 35%ต่ำกว่าช่วงก่อนวิกฤติปี 40 ประมาณ 1 เท่าตัว ขณะนี้ ไทยมีทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิอยู่ที่

260,002 ล้านดอลลาร์ในเดือน พ.ค. ที่ผ่านมา ภาคธุรกิจและสถาบันการเงิน ก่อนปี 2540 ธุรกิจหลายแห่งสะสมความเสี่ยงจากการกู้ยืมเกินตัว (Overleverage) โดยในปี 2540 ธุรกิจมีสัดส่วนหนี้ต่อทุน (D/E Ratio) สูงถึง 5 เท่า โดยเฉพาะการกู้เงินผ่านกิจการวิเทศธนกิจ BIBF ช่วงก่อนวิกฤติเศรษฐกิจปี 40 หลายปี มีภาวะฟองสบู่อย่างชัดเจน และ เกิดวิกฤติสามมิติพร้อมกัน คือ วิกฤติค่าเงิน วิกฤติหนี้สินนำไปสู่วิกฤติสถาบันการเงิน วิกฤติเศรษฐกิจมหภาค

ขณะนี้ปัญหาต่างกัน เศรษฐกิจขยายตัวต่ำ เงินเฟ้อยังไม่เห็นสัญญาณชัดของหนี้เสียในภาคธุรกิจขนาดใหญ่ น่าจะเกิดปัญหา Stagflation เงินเฟ้อสูง และ เศรษฐกิจถดถอย มากกว่า วิฤกติเศรษฐกิจจากฟองสบู่แตก Bubble burst และ เศรษฐกิจหดตัวอย่างรุนแรงฉับพลัน หรือเกิดเงินฝืดรุนแรง

นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยสามารถรับมือกับปัญหาวิกฤติในลักษณะเดียวกับปี 2540 ได้ดีขึ้น แต่ไทยก็มีโครงสร้างเศรษฐกิจ (Economic Structure) และ โครงสร้างระบบการเงินเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรการเปลี่ยนแปลงบางอย่างทำให้รับมือวิกฤติในบางลักษณะได้ดีขึ้น เช่น รับมือวิกฤติระบบธนาคารดีขึ้น เพราะโครงสร้างทางการเงินของไทย ลดการเป็น Bank-based financial system ลง เพิ่มบทบาทของ Market-based Financial System มากขึ้น ภาคเกษตรกรรมของไทยรองรับแรงงานตกงานจากภาคอุตสาหกรรมได้น้อยลง โครงสร้างประชากรเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว ทำให้ขาดความยืดหยุ่นหากจำเป็นต้องตัดลดงบประมาณลงโดยเฉพาะงบด้านสวัสดิการ

ธนาคารแห่งประเทศไทย ก.ล.ต. ตลาดหลักทรัพย์และกระทราวงการคลังได้ร่วมกันทำแผนแม่บทที่เกี่ยวข้องกับตลาดเงินตลาดทุนซึ่งหากดำเนินการตามแผนดังกล่าวได้จริงก็จะยกระดับมาตรฐานของระบบการเงินของประเทศให้เข้าสู่มาตรฐานสากลมากยิ่งขึ้น ควรปฏิรูประบบการเงินให้เปิดเสรีมากขึ้น ให้มีการแข่งขันมากขึ้นส่งเสริมให้ระบบธนาคารแบบเดิมเข้าสู่ Digital Transformation การปรับปรุงระบบการเงินอาจต้องเน้นให้ความรู้ทางการเงินและการลงทุนภาคประชาชน นอกจากนี้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวรับมือกับความผันผวนและความไม่สมดุลของเศรษฐกิจภายนอกได้ดี

อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจและความท้าทายใหม่ๆอาจกลายเป็นวิกฤติที่ใหญ่กว่าวิกฤติเศรษฐกิจปี 2540 หากเราไม่สามารถแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจที่รุมเร้าอยู่ในขณะนี้ได้อย่างมีประสิทธิผล เริ่มตั้งแต่ปัญหาที่หนึ่ง ปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ปัญหานี้จะบริหารจัดการอย่างไรภายใต้ทิศทางอัตราดอกเบี้ยโลกขาขึ้น และสร้างแรงกดดันให้อัตราดอกเบี้ยในประเทศปรับตัวสูงขึ้น ช่วงสองปีที่ผ่านมา โครงสร้างทางการเงินของกิจการและธุรกิจอุตสาหกรรมบางส่วนอ่อนแอมากและถูกซ้ำเติมจากผลกระทบการแพร่ระบาดของ Covid-19 และล่าสุดจากราคาพลังงานแพง

มีบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นมีหนี้สินเพิ่มมากกว่า 4 ล้านล้านบาท บริษัทกิจการท่องเที่ยวกิจการสายการบิน กิจการขนส่ง ค้าปลีก ร้านอาหาร กิจการเหล่านี้จำนวนไม่น้อยต้องเพิ่มทุนหรือระดมทุนออกหุ้นกู้ในช่วงครึ่งปีหลังปีนี้เพื่อเสริมสภาพคล่องและชำระหนี้ หนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนเพิ่มขึ้นมากกว่า 31 ล้านล้านบาท แม้นส่วนใหญ่เป็นหนี้ภายในประเทศ แต่ต้องระมัดระวัง เพราะสูงกว่าจีดีพีประเทศประมาณกว่า 2 เท่า และมีแนวโน้มว่าสัดส่วนหนี้สินต่อทุนและหนี้สินรวมของบริษัทจดทะเบียนจะเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะช่วงครึ่งปีหลังของ ปี พ.ศ. 2565 หากดอกเบี้ยในประเทศเพิ่มขึ้น 0.5-1% สัดส่วนของหนี้สาธารณะต่อจีดีพีทะลุ 60% แล้ว

ขณะที่สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีในปีนี้อยู่ที่ 86-88% ลดลงจากปีที่แล้วเล็กน้อยจากจีดีพีที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น แต่ยังเป็นประเทศที่มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีสูงติดอันดับโลก ตัวเลขสูงระดับนี้เข้าข่ายวิกฤติหนี้สินครัวเรือนแล้ว และตัวเลขหนี้ที่ปรากฏนี้ยังไม่นับรวมการเป็นหนี้นอกการกำกับดูแลของแบงก์ชาติและหนี้นอกระบบ ฉะนั้นตัวเลขหนี้ครัวเรือนทั้งระบบอาจทะลุ 90% แล้ว จะเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ของเศรษฐกิจไทย

นอกจากนี้ยังทำให้มาตรการกระตุ้นการบริโภคได้ผลลดลง เพราะขณะนี้อัตราการผ่อนชำระหนี้เมื่อเทียบกับรายได้อยู่ที่ 34-35% ฉะนั้นผู้บริโภคจะมีขีดจำกัดในการบริโภคเพิ่มหากรายได้ไม่เพิ่มขึ้น ขณะนี้ มีลูกหนี้ที่อยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลือประมาณ 12% ของสินเชื่อรวม ประมาณ 1 ล้านบัญชี หากดอกเบี้ยปรับตัวสูงและเศรษฐกิจไม่ฟื้นตัวดีนัก ลูกหนี้ที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการช่วยเหลืออาจเพิ่มเป็น 15% ของสินเชื่อรวมได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ขอให้ ทางการเตรียมเงินไว้ดูแลด้วย ขณะที่หนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือ เอ็นพีแอล ตัวเลขที่รายงานในระดับ 3% ของสินเชื่อรวมอาจต่ำกว่าความเป็นจริงเพราะมีการผ่อนปรนเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ อย่างไรก็ตาม เอ็นพีแอลในระดับนี้ยังไม่ใช่ปัญหาเพราะตอนวิกฤติปี 2540 เอ็นพีแอลเคยพุ่งแตะระดับ 52% ของสินเชื่อรวม

นอกจากนี้เวลานี้ ระบบธนาคารของไทยมีกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง หรือ BIS Ratio อยู่ที่ 19.7% ฉะนั้นวิกฤติภาคการเงินหากเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้จะมาจากกลุ่ม Non-Bank มากกว่า

นายอนุสรณ์ กล่าวว่า ปัญหาเงินเฟ้อสูงและค่าครองชีพแพง รวมทั้ง ภาวะการขาดแคลนสินค้าหรือวัตถุดิบบางอย่าง ปัญหาเงินเฟ้อนี้กระทบกับครอบครัวรายได้น้อย กระทบผู้คนระดับฐานรากมากที่สุด โดยเฉพาะบรรดาแรงงานลูกจ้าง ส่วนผู้ประกอบการสามารถพลักภาระด้วยการปรับขึ้นราคาสินค้าได้ ส่วนการขาดแคลนวัตถุดิบนั้นกระทบต่อภาคการผลิต

ภาวะเงินเฟ้อสูงเกิดจากราคาพลังงานแพงเป็นปัจจัยหลัก ไทยเป็นประเทศนำเข้าพลังงานสุทธิจึงต้องเร่งรัดการลงทุนในโครงการพลังงานหมุนเวียนและพลังงานทางเลือก ประการที่สามปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอันเป็นผลมาจากโครงสร้างประชากรเปลี่ยนแปลงและการเข้าสู่สังคมชราภาพ ประการที่สี่ ปัญหาความไม่สมดุลของตลาดแรงงาน เกิดภาวะขาดแคลนแรงงานในบางภาคส่วน

ขณะที่เกิดการว่างงานจากการล้มละลายของธุรกิจและแรงงานจำนวนไม่น้อยจะกลายเป็นส่วนเกินของระบบเศรษฐกิจที่ใช้ระบบอัตโนมัติ เอไอ หุ่นยนต์และอัลกอริทึม ขณะเดียวกันก็มีงานใหม่ๆเกิดขึ้นจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี การออกแบบระบบเศรษฐกิจให้แรงงานมนุษย์สามารถทำงานร่วมกับเอไอได้จึงเป็นโจทย์สำคัญของสังคมไทย ตลาดงานในอนาคตควรเป็นตลาดงานที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างมนุษย์กับเอไอมากกว่าจะแข่งขันแย่งงานกัน รัฐมีหน้าที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างงานใหม่ทดแทนงานที่หายไป ไม่เช่นนั้น ปัญหาการว่างงานเชิงโครงสร้างอย่างถาวรจะเกิดขึ้นในไทยเช่นเดียวกับบางประเทศในยุโรปและละตินอเมริกา

ประการที่ห้า ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจสังคมอย่างรุนแรงอันนำมาสู่ความไม่สงบทางสังคมและความไม่มีเสถียรภาพของระบบการเมืองได้มีความจำเป็นต้องออกแบบโมเดลทางเศรษฐกิจการเมืองไทยใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับความท้าทายใหม่ๆในศตวรรษที่ 21 โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลจากเทคโนโลยีดิสรัปชันมีความจำเป็นที่สังคมไทยอาจต้องถกเถียงถึงหนทางสู่ “รัฐสวัสดิการ” รวมทั้งการสร้างระบบหลักประกันรายได้พื้นฐานขั้นต่ำ (Universal Minimum Basic Income) โมเดลทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมแบบเดิมที่ใช้กันมาในโลกนี้รวมทั้งไทยอาจไม่เพียงพอที่จะรับมือความท้าทายในศตวรรษที่ 21 ได้

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (03 ก.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top