พาณิชย์-สภาหอฯ จับคู่เจรจาธุรกิจไทย-ซาอุฯ ตั้งเป้าส่งออกปีนี้กว่า 56,000 ลบ.

นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรี และรมว.พาณิชย์ กล่าวเปิดงาน Thai-Saudi Business Matching โดยระบุว่า วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์อีกวันหนึ่งของการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ที่นักธุรกิจของทั้งสองประเทศได้มีโอกาสพบปะกัน นับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีนำคณะจากประเทศไทยเปิดสัมพันธ์ไมตรีอีกครั้งหนึ่งกับซาอุดีอาระเบีย

โดยนับจากนี้ต่อไป ประเทศไทยจะได้สานต่อความสัมพันธ์กับซาอุดีอาระเบียในรูปแบบต่างๆ ทั้งการค้าการลงทุน และด้านอื่นๆ โดยด้านการค้าถือว่าซาอุดีอาระเบียเป็นคู่ค้าสำคัญของประเทศไทย และเป็นประเทศที่มีความสำคัญ ทั้งด้านการเมืองระหว่างประเทศและเศรษฐกิจประเทศหนึ่งของโลก

สำหรับมูลค่าการค้าระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบีย ปี 2564 มีมูลค่ารวมกันถึง 234,000 ล้านบาท โดยไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบีย 51,000 ล้านบาท แต่ยังขาดดุลซาอุดีอาระเบียอยู่มาก เนื่องจากไทยต้องนำเข้าพลังงานจากซาอุดีอาระเบียในปริมาณมาก ขณะที่การส่งออก 5 เดือนแรกของปีนี้ ไทยส่งออกไปซาอุดีอาระเบียถึง 25,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 23.3% และตั้งเป้าว่าปีนี้ไทยจะส่งออกไปซาอุดีอาระเบียให้ได้ 56,000 ล้านบาท ให้มากกว่าปีที่แล้วไม่ต่ำกว่า 6% โดยซาอุดีอาระเบียสามารถใช้ไทยเป็นประตูการค้าไปสู่อาเซียน และเอเชียตะวันออกได้ ในขณะที่ไทยก็สามารถใช้ซาอุดีอาระเบียเป็นประตูการค้าไปสู่ตะวันออกกลาง และกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ (Gulf Cooperation Council: GCC) ได้เช่นกัน

“ขอถือโอกาสเชิญชวนนักธุรกิจจากซาอุฯ ที่เดินทางมาเยือนไทยเที่ยวนี้จากมณฑลริยาดถึง 96 ราย 74 บริษัท ว่าประเทศไทยพร้อมต้อนรับนักลงทุน และผู้ค้าจากซาอุฯ ที่เป็นภาคเอกชน รัฐวิสาหกิจ และภาครัฐของซาอุฯ” นายจุรินทร์ กล่าว

นายจุรินทร์ กล่าวเสริมว่า หากลงทุนในประเทศไทย จะได้รับสิทธิประโยชน์อย่างน้อยจาก FTA ที่ประเทศไทยทำกับประเทศต่างๆ 18 ประเทศ จำนวน 14 ฉบับ ไม่ว่าจะเป็นอาเซียน จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย เปรู ชิลี และฮ่องกง รวมทั้งสิทธิประโยชน์จาก FTA ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งปัจจุบัน ไทยเป็นสมาชิกความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งมีผลบังคับใช้ไปแล้วเมื่อต้นปี 65

นอกจากนี้ นักลงทุนที่มาลงทุนในไทยจะได้ประโยชน์จากกลไกคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ซึ่งเป็นเวทีทำงานร่วมกันระหว่างภาครัฐและเอกชนของไทย ซึ่งภาคเอกชนมีสมาชิกประกอบด้วยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สภาโลจิสติกส์ทางเรือ และสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย รวมทั้งสมาพันธ์เอสเอ็มอี ดังนั้น นักลงทุนจากซาอุดีอาระเบีย เมื่อมาลงทุนทำการค้ากับประเทศไทย ถ้าติดขัดปัญหาอุปสรรคจะสามารถใช้เวที กรอ.พาณิชย์ ช่วยคลี่คลายปัญหาได้โดยผ่านสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย

“วันนี้ถือเป็นโอกาสดีอย่างยิ่งสำหรับ 2 ประเทศ ที่นักธุรกิจซาอุดีอาระเบียจะได้มาพบกับนักธุรกิจไทย เจรจาทางการค้าด้วยกันในรูปแบบ Business Matching หวังว่าการเจรจาการค้าระหว่างกันวันนี้ จะนำมาซึ่งการเซ็นสัญญาซื้อขาย และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกันในมูลค่าไม่น้อยทีเดียว และปลายเดือนส.ค. หรือต้นก.ย.นี้ จะนำคณะนักธุรกิจจากไทยไปเยือนซาอุดีอาระเบีย รวมทั้งที่เมืองริยาดด้วย” นายจุรินทร์ กล่าว

นายสนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ได้เป็นเจ้าภาพจัดงาน “Thai-Saudi Business Forum” ขึ้น ณ ไอคอนสยาม เพื่อเป็นการขยายผลการค้าระหว่างสองประเทศ โดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 300 คน เป็นนักธุรกิจจากซาอุดีอาระเบียประมาณ 100 คน

Mr.Krayem S. Alenezi, Member the Board of Directors of the Riyadh Chamber ในฐานะผู้นำคณะนักธุรกิจซาอุดีอาระเบีย กล่าวว่า การเยือนประเทศไทยในครั้งนี้ ถือเป็นหนึ่งในแผนการขับเคลื่อนและขยายการค้า การลงทุน ตามนโยบาย Saudi Vision 2030 ของซาอุดีอาระเบีย เพื่อมุ่งเน้นการพัฒนาอุตสาหกรรมที่ลดการพึ่งพาน้ำมัน และซาอุดีอาระเบียยังมีแผนพัฒนาระบบโลจิสติกส์ในระดับกิกะโปรเจกต์ โดยมุ่งหวังที่จะเชื่อมโยงเข้ากับแผนการพัฒนาอีอีซีของไทย เพื่อยกระดับระบบขนส่งโลจิสติกส์ของสองประเทศ

นอกจากนี้ หอการค้าริยาดยังได้ร่วมลงนาม MOU กับหอการค้าไทย โดยมีการลงนามข้อตกลงร่วมกันจำนวน 12 ฉบับ เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ทางธุรกิจและการลงทุนระหว่างกัน ผ่านความร่วมมือระหว่างภาคเอกชน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักธุรกิจของทั้งสองประเทศ

การเยือนไทยครั้งนี้ จะส่งผลต่อมูลค่าการค้าและการลงทุนระหว่างกันมากขึ้นหลายหมื่นล้านบาท โดยเฉพาะการส่งออกปุ๋ยและอุปกรณ์การเกษตรของฝ่ายซาอุฯ และนำไปสู่การหารือกันอย่างใกล้ชิด เพื่อปลดล็อคอุปสรรคและหาแนวทางผ่อนปรนมาตรการในด้านการส่งออก-นำเข้าในสินค้าต่าง ๆ อาทิ อาหารทะเลกระป๋อง เป็นต้น ซึ่งฝ่ายซาอุฯ ได้แสดงความสนใจระบบการรับรองมาตรฐานสินค้าฮาลาล รวมถึงระบบการจัดการห้องปฏิบัติการของศูนย์วิทยาศาสตร์ฮาลาล จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

ด้านนายผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ธนาคารในประเทศไทยมีสถานะทางการเงินที่มั่นคงและเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติ โดยปัจจุบันมีธนาคารในซาอุดิอาระเบีย 12 ธนาคารที่มีการติดต่อทำธุรกรรมกับไทย โดยสามารถทำธุรกรรมที่ครอบคลุมทั้งการนำเข้า การส่งออก และธุรกรรมอื่น ๆ เช่น การขอคืนภาษี Withholding Tax สำหรับชาวต่างชาติ ซึ่งธนาคารในประเทศไทยมีการพัฒนาระบบ Smart Financial and Payment Infrastructure for Business (Prompt Biz) ซึ่งครอบคลุมทุกทวีปทั่วโลก

โดยประเทศไทยมีความพร้อมในการรองรับสกุลเงินหลักของโลก ทั้งสกุลดอลลาร์สหรัฐ และสกุลเงินของกลุ่มประเทศ G7 รวมทั้งยังรับรองการทำธุรกรรมร่วมกับสกุลเงินเฉพาะอีกมากกว่า 130 สกุลเงิน นอกจากนี้ ยังมีระบบ National Digital Trade Platform (NDTP) ที่จะช่วยอำนวยความสะดวกในการทำธุรกรรมทางการค้าข้ามพรมแดนกับทุกประเทศทั่วโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top