ศบค.จับตา 23 จังหวัดแนวโน้มผู้ติดเชื้อโควิดขาขึ้นคาด ก.ย.ระบาดระลอกเล็กเพิ่ม

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ถึงภาพรวมการติดเชื้อทั่วประเทศ มี 54 จังหวัดที่มีแนวโน้มลดลง และมี 23 จังหวัดที่เป็นขาขึ้น และการติดเชื้อระลอกเล็กๆ (Small Wave) ในบางจังหวัด อย่างกรุงเทพฯ ชลบุรี ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรปราการ และภูเก็ต ที่มียอดเพิ่มสูงพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเมืองใหญ่และจังหวัดท่องเที่ยว จึงขอให้ประชาชนช่วยกันลดยอดผู้ติดเชื้อ

ทั้งนี้ ในระยะของการเปลี่ยนผ่านโรคโควิด-19 สู่ระยะ Post-pandemic (ก.ค.65-ธ.ค.66) มีการคาดการณ์ว่า อาจพบการระบาดระลอกเล็ก (Small Wave) ได้ โดยมีปัจจัย ได้แก่ ภูมิคุ้มกันต่อโรคลดลงหลังได้รับวัคซีนเกิน 6 เดือน, ประชาชนลดการสวมหน้ากากอนามัยและเลี่ยงปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคในสถานที่/กิจกรรมเสี่ยง, พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อนในสถานที่/กิจกรรมเสี่ยงโดยเฉพาะหลังเทศกาล และการเพิ่มขึ้นของสายพันธุ์ BA.4 BA.5 ทั่วโลกและในประเทศ

“ผู้ป่วยรายใหม่อาจพุ่งขึ้นจากสัปดาห์นี้เป็นต้น จะเป็น wave สูงขึ้นในช่วง ก.ย.65 และพ.ย.จึงแนวระนาบลงมา หากประชาชาชนช่วยกัน ฉากทัศน์ของจำนวนผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตก็จะต่ำกว่าการคาดการณ์”นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในที่ประชุมนายกรัฐมนตรีระบุว่าต้องการให้ประชาชนได้ร่วมมือกัน คือ 1.การสวมหน้ากากอนามัย 2.กรณีมีคลัสเตอร์ต่างๆ ขอความร่วมมือให้ลงไปดูกันอย่างรวดเร็ว ทั้งฝ่ายปกครองในพื้นที่ กระทรวงสาธารณสุข หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 3.การเดินทางเข้าประเทศ ขอให้ไปตรวจสอบว่ามีผู้ติดเชื้อจากการเดินทางกลับจากต่างประเทศที่เป็นคนต่างชาติมีอยู่จำนวนเท่าไหร่ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชน 4. จุดผ่อนปรนการค้าตามแนวชายแดนที่ไม่มีด่านควบคุมโรค ขอให้ไปหามาตรการและหารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมกันรับผิดชอบและดูแลไปด้วยกัน 5.หากมีผู้เจ็บป่วย ขอให้มีการบริการดูแลให้คำปรึกษาเป็นอย่างดี

ทั้งนี้ กรมควบคุมโรคได้แสดงรายงานข้อมูลผู้ป่วยแบบ OPSI กรณีเจอ-แจก-จบ เป็นผู้ป่วยนอกที่ไปรับยาแล้วกลับบ้าน ตั้งแต่ มี.ค.-6 ก.ค.65 มีทั้งสิ้น 5,113,782 ราย และพบว่าในสัปดาห์ที่ 26 มีผู้ป่วยประมาณ 207,643 ราย หรือเฉลี่ยวันละ 29,000 รายทั่วประเทศ ซึ่งเป็นตัวเลขที่ป่วยจริง แต่อาการผู้ติดเชื้อไม่หนัก ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยปอดอักเสบมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย

พร้อมกันนี้ รมว.สาธารณสุขยืนยันว่ายังมีเตียงรองรับผู้ป่วยเพียงพอ โดยเตียงทุกระดับมีทั้งหมด 103,798 เตียง ใช้ไป 11.2% ซึ่งเตียงผู้ป่วยระดับหนึ่งหรือป่วยน้อยมีทั้งหมด 78,229 เตียง ใช้ไปเพียง 11% ผู้ป่วยระดับสองและระดับสาม มีทั้งหมด 5,694 เตียง ใช้ไป 13.4% สามารถจัดสรรเตียงไปให้บริการผู้ป่วยโรคอื่นได้

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top