กทม. เตรียมพร้อมรับมือโควิด สั่งทุกเขตกลับมาตั้งศูนย์ CI-สต็อกยา, ยังไม่งดกิจกรรม

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) กล่าวภายหลังการประชุมคณะกรรมการศูนย์อำนวยการบริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.ชุดใหญ่ ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดในขณะนี้ว่า กลุ่มที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือกลุ่ม 608 (ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง และสตรีมีครรภ์) ทั้งนี้ ผู้ที่ติดเชื้อหากเป็นกลุ่มเด็กหรือวัยทำงานจะมีอาการไม่หนักมาก กินยาพักผ่อนแล้วหาย แต่ทั้งสองกลุ่มนี้ได้มีการนำเชื้อไปติดผู้สูงอายุที่บ้าน ซึ่งกลุ่มผู้สูงอายุเป็นกลุ่มที่มีอัตราครองเตียงสูง

ดังนั้น อาจต้องมีการพิจารณาทำศูนย์พักคอย (Community Isolation: CI) อีกครั้ง เนื่องจากปัจจุบันได้ปิดไปแล้ว โดยเป้าหมายการเปิด CI อันดับแรก คือ ชุมชนแออัด เช่น คลองเตย เป็นต้น ทั้งนี้ เพื่อเป็นการตัดวงจรของคนแข็งแรงที่นำเชื้อไปติดผู้สูงอายุ โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมทุกเขตในการนำ CI กลับมา

“เมื่อก่อนใช้โรงเรียนในการทำ CI แต่ขณะนี้โรงเรียนเปิดแล้ว จึงต้องหาสถานที่อื่นๆ ทดแทน เรามีบทเรียน และหลายที่ก็มีสถานที่อยู่แล้ว คิดว่าไม่ยาก เอาศูนย์เก่าขึ้นมาทำใหม่” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวว่า สิ่งสำคัญในการเตรียมพร้อมรับมือโรคระบาด คือ ต้องมีการเตรียมพร้อมโดยเฉพาะเรื่องยา โดยกทม. ได้ประสานกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เรื่องการเตรียมสต็อกยา โดยขณะนี้มียาตัวใหม่ คือ โมลนูพิราเวียร์ ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการพูดคุยกับ สธ. ว่ายาดังกล่าวให้ผลดี แต่ปัจจุบันยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.)

ทั้งนี้ ปัจจุบัน กทม. จะต้องมีการคาดการณ์ฉากทัศน์สถานการณ์ผู้ป่วย และขอยาจาก สธ. อย่างไรก็ดี คาดว่ายาโมลนูพิราเวียร์ น่าจะผ่าน อย. ในเดือนนี้ ซึ่งเมื่อผ่านแล้ว กทม. ก็จะสามารถจัดซื้อยาเองเพื่อสต็อกยาไว้ และราคาก็ไม่ได้แพงมาก

นอกจากนี้ ในที่ประชุมศบค. ได้มีข้อกังวลเรื่องการจัดกิจกรรมของกทม. ทั้งนี้ งานต่างๆ จะดำเนินต่อไปทั้งหนังกลางแปลง หรือดนตรีในสวน แต่ขอให้ใส่หน้ากากตลอด เพราะมีบางครั้งอาจอยู่ใกล้กันเกิน 1 เมตร และเมื่อโดยสารรถสาธารณะ ก็ขอให้ใส่หน้ากากตลอดเวลาเพื่อลดความเสี่ยง

“อุปกรณ์ ยาต่างๆ กทม. ต้องเตรียมพร้อม เราทำงานร่วมกับศบค.ชุดใหญ่ ไปในแนวทางมาตรการเดียวกัน กทม. จะแค่แนะนำ เช่น สวมหน้ากากในพื้นที่ที่มีคนแออัด เป็นต้น นอกจากนี้ เตือนผู้มีความเสี่ยงกลุ่ม 608 ว่าต้องฉีดวัคซีนเข็มบูสเตอร์ ใส่หน้ากากตลอดเวลา โดยกลุ่ม 608 ของกทม. บูสเตอร์ไปแล้ว 50% กลุ่มอื่นๆ ก็ให้ไปฉีดเข็มบูสเตอร์หากเกิน 4 เดือนแล้ว โดย สธ. ยังมีวัคซีนเหลือเฟือ” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อในโรงเรียนว่า จากข้อมูลโรงเรียนในกทม. กว่า 400 แห่ง พบเด็กติดเชื้อประมาณ 1% โดยคลัสเตอร์ส่วนใหญ่เป็นเด็กมัธยม ที่จะมีกิจกรรมหลังเลิกเรียน อย่างไรก็ดี จะมีการติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง

ด้าน นส.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าฯ กทม. เปิดเผยถึงสถานการณ์การติดเชื้อในโรงเรียนว่า จำนวนนักเรียนที่ติดเชื้อขณะนี้ ยังอยู่ในปริมาณที่ให้ผู้บริหารและคุณครู จัดการการเรียนการสอนที่โรงเรียน (onsite) ได้ ในส่วนของการติดเชื้อของเด็กเล็ก และเด็กชั้นประถมศึกษา ยังมีจำนวนน้อยอยู่

อย่างไรก็ดี ขณะนี้ได้ให้ทุกโรงเรียนเตรียมพร้อมมาตรการ ทั้งการคัดกรองเด็กตั้งแต่หน้าโรงเรียน และให้ผู้ปกครองสามารถรับนักเรียนกลับได้ทันทีหากพบว่ามีการติดเชื้อ นอกจากนี้ ทุกโรงเรียนได้เตรียมพร้อมจัดการเรียนการสอนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ทั้งชุดการบ้าน และแบบฝึกหัด

ส่วนกรณีที่โรงเรียนมีคลัสเตอร์กลุ่มเล็กเกิดขึ้น ผู้บริหารโรงเรียนสามารถงดการเรียนการสอนในห้องเรียนนั้น และให้สลับกันเรียน หรือหากพบคลัสเตอร์ใหญ่อาจพิจารณาจัดสอนออนไลน์ได้ ขณะเดียวกัน สามารถสั่งปิดโรงเรียนเพื่อทำความสะอาดได้ 3 วัน สำหรับกิจกรรมกลุ่มใหญ่ๆ ได้ให้โรงเรียนงดไปก่อน ถ้าเป็นกิจกรรมกลุ่มเล็ก ที่จัดในที่โล่งยังสามารถทำได้

นส.ทวิดา กล่าวว่า สำหรับจำนวนยา และเตียงในโรงพยาบาลกทม. ขณะนี้ยังมีเพียงพอรองรับผู้ป่วยได้ ถึงแม้ว่าจะเริ่มเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นมาก แต่กทม. ได้เตรียมรองรับไว้แล้ว ทั้งนี้ การครองเตียงของโรงพยาบาลกลางเมืองเริ่มตึงตัว ในขณะที่โรงพยาบาลบริเวณรอบนอกกทม. ยังสามารถรองรับได้อยู่ ดังนั้น โรงพยาบาลที่ส่งตัวผู้ป่วยต่อจากศูนย์บริการสาธารณสุข อาจจะมีการส่งผู้ป่วยไปไกลกว่าบ้านของประชาชนเล็กน้อย

“กทม. ได้มีการคำนวณศักยภาพของการครองเตียง และจำนวนยาไปข้างหน้า 3 และ 5 วันต่อจากนี้ ว่าจะต้องเบิกยาจำนวนเท่าไหร่แล้ว ส่วนอัตราการครองเตียง ขณะนี้โรงพยาบาลในกทม. สามารถรองรับได้ประมาณ 40% ไม่เกิน 50% เริ่มตึงตัวในโรงพยาบาลที่มีประชาชนใช้บริการมาก อย่างไรก็ดี ยืนยันว่าสถานการณ์ในอีก 3-5 วันนี้ ยังรองรับได้อยู่” นส.ทวิดา กล่าว

สำหรับคลัสเตอร์ในกทม. ขณะนี้พบคลัสเตอร์ขนาดเล็กในเนิร์สเซอรี่ผู้สูงอายุ ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อค่อนข้างน้อย จึงได้สั่งทำ Bubble & Seal แล้ว

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (08 ก.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top