รักษาการปธน.ศรีลังกาวอนประธานสภาผู้แทนฯ เสนอชื่อนายกฯ คนใหม่

นายรานิล วิกรมสิงเห นายกรัฐมนตรีศรีลังกา ซึ่งปัจจุบันดำรงตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีศรีลังกาหลังจากที่นายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกาได้หลบหนีออกนอกประเทศเมื่อวานนี้ ได้ขอให้นายมหินธา ยาปา อะเบย์วาร์เดนา ประธานสภาผู้แทนราษฎร เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่

แถลงการณ์จากฝ่ายสื่อของนายรานิล วิกรมสิงเห ระบุว่า นายรานิลได้ขอให้ประธานสภาผู้แทนฯ เสนอชื่อนายกรัฐมนตรีคนใหม่ “ซึ่งเป็นที่ยอมรับของทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน”

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า การที่นายวิกรมสิงเหเข้ามารับตำแหน่งรักษาการประธานาธิบดีเองก็สร้างความไม่พอใจให้กับผู้ประท้วงด้วยเช่นกัน เพราะผู้ประท้วงก็ต้องการให้นายวิกรมสิงเหออกจากตำแหน่งไปด้วย โดยผู้ประท้วงได้บุกยึดสถานีกระจายเสียงแห่งชาติจนส่งผลให้ต้องระงับการออกอากาศ

ความเคลื่อนไหวดังกล่าวมีขึ้นหลังมีรายงานข่าวว่า นายโคฐาภยะ ราชปักษะ ประธานาธิบดีศรีลังกา ได้หลบหนีออกนอกประเทศในช่วงเช้าเมื่อวานนี้ (13 ก.ค.) และเดินทางถึงประเทศมัลดีฟส์แล้ว โดยอาจเดินทางต่อไปยังอีกประเทศหนึ่ง ซึ่งมีความเป็นไปได้ว่าอาจจะเป็นประเทศสิงคโปร์

ก่อนหน้านี้ นายราชปักษะยืนยันว่าเขาจะลาออกจากตำแหน่งในวันที่ 13 ก.ค. หลังจากที่กลุ่มผู้ประท้วงได้บุกเข้าไปยังบ้านพักในทำเนียบประธานาธิบดี รวมทั้งได้จุดไฟเผาบ้านพักของนายกรัฐมนตรีรานิล วิกรมสิงเห เนื่องจากไม่พอใจต่อการบริหารประเทศ ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ตกต่ำ

รัฐสภาศรีลังกาจะจัดการประชุมในวันที่ 15 ก.ค.นี้ เนื่องจากตำแหน่งประธานาธิบดีได้ว่างลง และจะมีการเสนอชื่อผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 19 ก.ค. ส่วนการลงคะแนนเพื่อสรรหาประธานาธิบดีคนใหม่จะมีขึ้นในวันที่ 20 ก.ค.

ล่าสุดเมื่อวานนี้ ศรีลังกาได้ประกาศภาวะฉุกเฉินทั่วประเทศ ครอบคลุมถึงการใช้มาตรการเคอร์ฟิวในพื้นที่ฝั่งตะวันตกของประเทศ ซึ่งรวมถึงกรุงโคลัมโบ เมืองหลวงของศรีลังกา เพื่อยับยั้งเหตุการณ์รุนแรง

ทั้งนี้ ความผิดพลาดในการบริหารจัดการเศรษฐกิจ และผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ทำให้ศรีลังกาซึ่งมีประชากร 22 ล้านคนไม่สามารถชำระเงินเพื่อการนำเข้าสินค้าที่จำเป็น เช่น อาหาร ปุ๋ย ยารักษาโรค และเชื้อเพลิง เนื่องจากรัฐบาลขาดแคลนสกุลเงินดอลลาร์อย่างรุนแรง และต้องพิมพ์เงินรูปีเพื่อจ่ายเงินเดือนให้กับข้าราชการ จนทำให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้นถึง 54.6% ในเดือนมิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะที่ต้นทุนค่าขนส่งทะยานขึ้นถึง 128% และค่าอาหารพุ่งขึ้น 80% อันเป็นผลจากการขาดแคลนพืชผลและน้ำมันดิบ

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top