
นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 36.27 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากปิดตลาดเมื่อเย็นวันอังคารที่ระดับ 36.30/32 บาท/ดอลลาร์ แต่มีแนวโน้มอ่อนค่าตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์แข็งค่าหลังมีการประกาศตัวเลขเงินเฟ้อเดือน มิ.ย.65 ของสหรัฐอยู่ที่ 9.1% สูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ที่ 8.8% ซึ่งทำสถิติใหม่ในรอบ 40 ปี ทำให้ตลาดคาดการณ์ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) จะปรับขึ้นดอกเบี้ยมากถึง 1% ซึ่งสูงกว่าคาดการณ์เดิมที่ 0.75% เพื่อควบคุมอัตราเงินเฟ้อ
“บาทแข็งค่าจากเย็นวันอังคาร แต่มีแนวโน้มอ่อนค่าตามทิศทางตลาดโลก เนื่องจากดอลลาร์มีปัจจัยหนุนจากอัตราเงินเฟ้อสหรัฐที่ออกมาสูงเกินคาดจนเฟดจะปรับดอกเบี้ยมากถึง 1%” นักบริหารเงินระบุ
นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.20 – 36.35 บาท/ดอลลาร์
THAI BAHT FIX 3M (12 ก.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.49654% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.74697%
ปัจจัยสำคัญ
- เงินเยนอยู่ที่ระดับ 137.96 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวันอังคารที่ระดับ 136.92/94 เยน/ดอลลาร์
- เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0019 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวันอังคารที่ระดับ 1.0014/0018 ดอลลาร์/ยูโร
- อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 36.304 บาท/ดอลลาร์
- ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (EIC SCB) คาดคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) จะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ เพื่อควบคุมเงินเฟ้อคาดการณ์ที่มีแนวโน้มเร่งตัว
- “แบงก์” คาด “สินเชื่อ” กลับมาเติบโตต่อ เหตุเศรษฐกิจส่งสัญญาณทยอยฟื้นตัว หลังภาครัฐผ่อนคลายมาตรการคุมโควิด-19 “ทิสโก้” ชี้สินเชื่อพลิกกลับมาโตในรอบ 4 ปี “บีบีแอล” ชี้เอสเอ็มอีเริ่มฟื้นตัว หลังลูกหนี้ในมาตรการกลับมาชำระหนี้ได้ 40%
- ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เปิดเผยว่า ในช่วงวันหยุดยาว 5 วัน (13-17 ก.ค.65) ซึ่งตรงกับวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา คาดการณ์ว่าจะมีการเดินทางท่องเที่ยวของคนไทย 3.70 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ทางการท่องเที่ยว 14,330 ล้านบาท และมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 53% ส่วนใหญ่เป็นการเดินทางท่องเที่ยวภูมิภาคระยะใกล้ โดยภาคเอกชนบางหน่วยงานอาจได้รับวันหยุดยาวด้วย นอกเหนือไปจากหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ
- ธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS) ประกาศใช้นโยบายคุมเข้มด้านการเงินในวันนี้ ซึ่งสร้างความประหลาดใจให้กับตลาดการเงิน โดย MAS ระบุว่า การดำเนินการดังกล่าวจะช่วยให้ภาวะเงินเฟ้อชะลอตัวลงในช่วงเวลาที่รัฐบาลสิงคโปร์พยายามควบคุมราคาผู้บริโภคที่พุ่งขึ้นอย่างมาก
- กระทรวงแรงงานสหรัฐเปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) ซึ่งเป็นมาตรวัดเงินเฟ้อจากการใช้จ่ายของผู้บริโภค พุ่งขึ้น 9.1% ในเดือนมิ.ย. เมื่อเทียบรายปี ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 40 ปี นอกจากนี้ ตัวเลขดังกล่าวยังสูงกว่าระดับ 8.6% ในเดือนพ.ค. และสูงกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ระดับ 8.8%
- เจ้าหน้าที่ระดับสูงของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ส่งสัญญาณว่า เฟดอาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมากกว่า 0.75% หรืออาจแรงถึง 1% ในการประชุมเดือนนี้ หลังจากตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐพุ่งขึ้นสูงกว่าการคาดการณ์
- นักวิเคราะห์จากบริษัทเอฟเอชเอ็น ไฟแนนเชียล กล่าวว่า ดัชนี CPI เดือนมิ.ย.ที่ออกมาสูงกว่าตัวเลขคาดการณ์นั้น ทำให้ตลาดกังวลว่าอาจส่งผลให้เฟดปรับขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.75% หรืออาจจะแรงถึง 1% ในการประชุมเดือนก.ค. และมีแนวโน้มว่าเฟดอาจจะปรับขึ้นอีก 0.75% ในการประชุมเดือนก.ย. ซึ่งจะเป็นการขึ้นดอกเบี้ย 0.75% ในการประชุม 3 ครั้งติดต่อกัน
- ทีมนักวิเคราะห์ของบริษัทโนมูระ ซิเคียวริตีส์ อินเตอร์เนชันแนล คาดการณ์ว่า เฟดจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแรงถึง 1% ในการประชุมเดือนนี้เช่นกัน
- สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันพุธ (13 ก.ค.) หลังจากนักลงทุนซึมซับตัวเลขเงินเฟ้อของสหรัฐที่สูงกว่าคาดในเดือนมิ.ย. ขณะที่เงินปอนด์แข็งค่าขานรับรายงานที่ว่า เศรษฐกิจของอังกฤษฟื้นตัวขึ้นในเดือนพ.ค.
- สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดพุ่งขึ้นกว่า 10 ดอลลาร์ในวันพุธ (13 ก.ค.) เนื่องจากการอ่อนค่าของสกุลเงินดอลลาร์เป็นปัจจัยหนุนตลาด นอกจากนี้ นักลงทุนยังเข้าซื้อทองคำในฐานะสินทรัพย์ที่ปลอดภัย หลังสหรัฐเปิดเผยตัวเลขเงินเฟ้อพุ่งขึ้นสูงกว่าคาดในเดือน มิ.ย.
โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (14 ก.ค. 65)
Tags: ค่าเงินบาท, เงินบาท