AMR ตั้งเป้ารายได้ 3 ปีโตเฉลี่ยกว่า 20% ผลักดันธุรกิจใหม่เน้นสร้างรายได้ประจำ

นายมารุต ศิริโก ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เอเอ็มอาร์ เอเชีย (AMR) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ 3 ปี (ปี 66-68) เติบโตเฉลี่ย 20% ต่อปี ด้วยกลยุทธ์ที่บริษัทเตรียมเดินหน้าผลักดันรายได้ประจำ (Recurring Income) ให้เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าสัดส่วนได้ประจำเพิ่มขึ้นเป็น 50% จากปัจจุบัน 2% ซึ่งจะมีขยายฐานแหล่งที่มาของรายได้ใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนธุรกิจให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน

บริษัทมองโอกาสขยายไลน์ธุรกิจพลังงาน หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้ให้บริการด้านพลังงานและสิ่งแวดล้อม เช่น โครงการ EV Charging Station, EV BIKE Platform, โซลาร์รูฟท็อป และระบบท่อน้ำบาดาล เป็นต้น ซึ่งอยู่ในเมกะเทรนด์

รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับ Smart City ซึ่งสอดรับกับนโยบายของภาครัฐ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวข้องกับระบบขนส่งคมนาคมเพื่อรองรับการขยายตัวเมือง เช่น โครงการระบบรางสายรอง (Feeder Line) บริษัทอยู่ระหว่างการพูดคุยกับพันธมิตรร่วมลงทุน พร้อมกับเตรียมขยายธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวในหัวเมืองต่าง ๆ ด้วย

นอกจาก New S Curve ที่กำลังจะเกิดขึ้นหลังการขยายธุรกิจใหม่ บริษัทยังได้รับอีกหนึ่งแรงหนุนสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ หลังจาก บริษัท เอ.เอส.แอสโซซิเอท เอนยิเนี่ยริ่ง (1994) หรือ AS ผู้เชี่ยวชาญธุรกิจรับเหมาวิศวกรรมระบบราง เข้ามาถือหุ้นใน AMR สัดส่วน 23.82% ซึ่งเป็นการปรับโครงสร้างการถือหุ้นจากเดิมเป็นบุคคลธรรมดา คือ กลุ่มอารีกุล สู่นิติบุคคล โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่มีผลกระทบต่อโครงสร้างการบริหารงานของบริษัทแต่อย่างใด

“การที่ AS มาถือหุ้นใน AMR เชื่อว่าจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนสถาบันและต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากเป็นผู้เชี่ยวชาญงานก่อสร้างระบบราง ในขณะที่ AMR มีความเชี่ยวชาญในการวางระบบเดินรถ ทำให้สามารถเกื้อหนุนและเพิ่มศักยภาพให้มีโอกาสรับงานเพิ่มขึ้น” นายมารุต กล่าว

สำหรับทิศทางผลการดำเนินงานในปีนี้ บริษัทมั่นใจว่ารายได้จะเติบโตได้ตามเป้าหมาย 40% จากปีก่อน หรือมาอยู่ที่ 2 พันล้านบาท ล้านบาท โดยมีมูลค่างานในมือรอรับรู้รายได้ (Backlog) ณ สิ้นไตรมาส 1/65 อยู่ที่ราว 2.06 พันล่านบาท ซึ่งจะทยอยรับรู้เข้ามาในปีนี้เกือบทั้งหมด

สัดส่วนรายได้หลักในปีนี้มาจากงานวิศวกรรมออกแบบและเชื่อมต่อระบบไอที่โชลูชันแบบครบวงจร (System Integrator: SI) กว่า 70% และส่วนที่เหลือมาจากโครงการเปลี่ยนระบบสายไฟฟ้าอากาศเป็นสายไฟฟ้าใต้ดินตามแนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนที่ 1 ที่มีมูลค่าคงเหลือ 469 ล้านบาท และล่าสุดมีงานที่รับเข้ามาเพิ่มเติมคือการปรับเปลี่ยนระบบงานประกันสังคมบนเครื่องคอมพิวเตอร์เมนเฟรมที่เป็นระบบเว็บแอปพลิเคชัน มูลค่า 364 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (18 ก.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top