ดัชนีเชื่อมั่นอุตฯมิ.ย.ขยับขึ้นครั้งแรกรอบ 3 เดือน หลังโควิด-19 คลี่คลาย

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เผยดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนมิ.ย.65 อยู่ที่ระดับ 86.3 เพิ่มขึ้นจากระดับ 84.3 ในเดือนพ.ค.65 ซึ่งเป็นการปรับเพิ่มขึ้นครั้งแรกในรอบ 3 เดือน โดยมีปัจจัยบวกจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เพิ่มเติม, การปรับลดระดับการเตือนภัยโควิดจากระดับ 3 เหลือระดับ 2 ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ทยอยกลับเข้าสู่ภาวะปกติมากขึ้น รวมถึงการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว ส่งผลดีต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ

อย่างไรก็ดี มีปัจจัยลบจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้ราคาวัตถุดิบและราคาพลังงานสูงขึ้น ตลอดจนปัญหา Supply Shortage ที่ยังไม่คลี่คลาย ทำให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น ขณะที่เศรษฐกิจโลกมีทิศทางชะลอตัวลง เนื่องจากหลายประเทศเผชิญปัญหาเงินเฟ้อ ส่งผลให้คำสั่งซื้อสินค้าจากประเทศคู่ค้าชะลอตัว โดยเฉพาะสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้า อยู่ที่ระดับ 97.5 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก 96.7 ในเดือนพ.ค. โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการทยอยฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน เฟส 4” มาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับบริษัทเอกชนที่นำพนักงานไปท่องเที่ยวในเมืองหลักและเมืองรอง เพื่อช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศ รวมทั้งการยกเลิก Thailand Pass ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.65 คาดว่าจะช่วยหนุนให้นักท่องเที่ยวเดินทางเข้าประเทศมากขึ้น

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้น ตลอดจนความไม่แน่นอนของสงครามรัสเซีย-ยูเครนที่ส่งผลกระทบต่อราคาพลังงาน รวมถึงความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกถดถอย (Recession) ซึ่งกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย

“แม้ผู้ส่งออกจะชอบเวลาเงินบาทอ่อนค่า แต่ผู้ผลิตสินค้าขายในประเทศที่ต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจะมีภาระต้นทุนเพิ่มขึ้น รวมถึงต้นทุนเกี่ยวกับพลังงาน ทั้งค่าขนส่ง ค่าไฟฟ้า”

นายเกรียงไกร กล่าว

 ทั้งนี้ ส.อ.ท.มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ ดังนี้

  1. ให้ภาครัฐเร่งหาตลาดส่งออกใหม่ๆ เพื่อทดแทนตลาดที่ชะลอตัวและได้รับผลกระทบจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน
  2. ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เกิดการจ้างงานในระยะสั้นและระยะยาว
  3. ส่งเสริมและปรับปรุงกฎระเบียบให้เกิดการใช้พลังงานหมุนเวียนในภาคธุรกิจและภาคประชาชน
  4. สนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำสำหรับการปรับเปลี่ยนเครื่องจักรและอุปกรณ์ เพื่อการประหยัดพลังงาน

นายเกรียงไกร กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจในขณะนี้อาจเป็นปัจจัยให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก 0.75-1.00% จากก่อนหน้านี้ที่เฟดใช้ยาแรงปรับขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว 0.75% แต่ยังไม่สามารถสกัดอัตราเงินเฟ้อได้ และคาดว่ากรอบอัตราดอกเบี้ยที่เฟดจะปรับขึ้นไปอยู่ที่ 3.4% จะขยายเพิ่มเป็น 4.0%

ทั้งนี้ต้องจับตาดูภาวะเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีหลังที่คาดว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้ามาเพิ่มขึ้นตามเป้าที่ตั้งไว้ในปีนี้ 6-10 ล้านคน และภาวะการส่งออกจะยังคงขยายตัวต่อเนื่องจากครึ่งปีแรกที่โตเฉลี่ย 10% ซึ่งต้องรอดูว่าภาวะเศรษฐกิจของสหรัฐและสหภาพยุโรปจะชะลอตัวลงหรือไม่ เพราะจะกระทบต่อการส่งออก เนื่องจากกำลังซื้อลดลง

อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นจากการสำรวจความเห็นของผู้ประกอบการทั้ง 45 อุตสาหกรรมแล้ว พบว่า แนวโน้มคำสั่งซื้อส่วนใหญ่เริ่มแผ่วลง ยกเว้นอุตสาหกรรมอาหารที่ปีนี้มีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นเป็น 1.2-1.3 ล้านล้านบาท จาก 1 ล้านล้านบาท หลังเกิดวิกฤตอาหารโลก

“ต้องจับตาดูครึ่งปีหลังอย่างใกล้ชิด ถ้ามีนักท่องเที่ยวเข้ามาเพิ่มขึ้นจะช่วยให้ค่าเงินบาทมีเสถียรภาพมากขึ้น” นายเกรียงไกร กล่าว

ส่วนกรณีธนาคารกลางเมียนมาออกคำสั่งระงับชำระหนี้ต่างประเทศ เพื่อรักษาเสถียรภาพค่าเงินจ๊าดไม่ให้อ่อนค่าเกิน 1,850 จ๊าด/ดอลลาร์นั้น ขณะนี้กำลังประเมินสถานการณ์ว่ากรณีดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อการค้าชายแดนหรือไม่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ก.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top