EXIM BANK เล็งขายหุ้นกู้ 5 พันลบ.ในก.ย.,โชว์ผลงาน H1/65 อนุมัติสินเชื่อใหม่เพิ่ม 30%

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK กล่าวว่าในช่วงวันที่ 9 เดือน 9 (9 ก.ย.) EXIM BANK มีแผนที่จะจัดจำหน่ายหุ้นกู้ วงเงินรวมกว่า 5,000 ล้านบาท โดยรายละเอียดยังอยู่ระหว่างการพิจารณา แต่เชื่อว่าจะได้รับความสนใจจากนักลงทุนเป็นอย่างดี ซึ่งหากกระแสตอบรับออกมาดีมีแผนจะจำหน่ายหุ้นกู้เพิ่มอีก

สำหรับกรณีธนาคารกลางเมียนมา สั่งลูกหนี้ระงับจ่ายหนี้ให้กับเจ้าหนี้ต่างประเทศ เพื่อสกัดเงินทุนสำรองที่ลดลงอย่างหนัก ซึ่งบริษัทต่างประเทศในเมียนมาส่วนใหญ่มีเงินกู้ยืมในสกุลต่างประทเศอย่างน้อย 1.2 พันล้านดอลลาร์ มองว่าไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย เนื่องจากภาพรวมการส่งออกจากไทยไปเมียนมายังขยายตัวได้ 12% ขณะที่การค้าขายของไทยกับเมียนมาส่วนใหญ่เป็นรูปเงินจ๊าด-บาท จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก แต่สิ่งที่น่าจับตาคือ แรงงานเมียนมาที่อาจจะทะลักเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งหากไทยมีการปรับขึ้นค่าแรงขึ้นต่ำ มองว่า 80% ของการเพิ่มค่าแรงขึ้นต่ำนั้นจะอยู่ที่แรงงานเมียนมาเป็นหลัก ไม่ใช่คนไทย

สำหรับผลการดำเนินงานในครึ่งแรกของปี 65 (ม.ค.-มิ.ย.) มีสินเชื่ออนุมัติใหม่ 3.45 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 30.52% เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นวงเงินของลูกค้าขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) จำนวน 8.4 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยธนาคารมีจำนวนลูกค้าอยู่ที่ 5.47 พันราย เพิ่มขึ้น 22.78% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยในจำนวนนี้เป็นลูกค้าเอสเอ็มอี 83.84%

พร้อมมั่นใจว่า ในปี 2565 ภาพรวมสินเชื่อคงค้างจะขยายตัวได้ 1.6 แสนล้านบาทอย่างแน่นอน หลังจากที่ 7 เดือนแรกของปี 2565 สินเชื่อคงค้างอยู่ที่ 1.56 แสนล้านบาท ในส่วนนี้เป็นสินเชื่อที่สนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ BCG Economy จำนวน 4.34 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 25.53% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

ขณะที่ ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 ธนาคารมียอดสินเชื่อโครงการระหว่างประเทศ อยู่ที่ 6.67 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.71 พันล้านบาท หรือ 7.59% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยส่วนใหญ่อยู่ในตลาดสำคัญอย่าง CLMV และตลาดใหม่ ส่งผลให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีสินเชื่อคงค้าง CLMV และตลาดใหม่ จำนวน 5.47 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 9.73 พันล้านบาท หรือ 21.61% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เป็นสินเชื่อคงค้างในเวียดนาม 1.45 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 52.57% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

นายรักษ์ กล่าวว่า EXIM BANK ได้สร้างภูมิคุ้มกันความเสี่ยงแก่ผู้ส่งออกและนักลงทุนไทย ผ่านบริการประกัน ซึ่งในช่วงครึ่งแรกของปี 2565 มีปริมาณธุรกิจด้านการรับประกันการส่งออกและลงทุน อยู่ที่ 1 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 4.07% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะเดียวกันยังได้ช่วยเหลือในด้านการเงินและไม่ใช่การเงินแก่ผู้ประกอบการ แล้วกว่า 1.72 มื่นราย คิดเป็นวงเงินกว่า 8.56 หมื่นล้านบาท

ด้านสถานะทางการเงินนั้น ณ สิ้นเดือน มิ.ย. 2565 มีอัตราส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) อยู่ที่ 2.91% และมีค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น (Expected Credit Loss) อยู่ที่ 1.22 หมื่นล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อ NPL (Coverage Ratio) อยู่ที่ 274.64% สูงสุดในระบบ ส่งผลให้ในไตรมาสที่ 2/2565 EXIM BANK มีกำไรก่อนสำรองอยู่ที่ 1.21 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 12.55% และกำไรสุทธิเท่ากับ 604 ล้านบาท

นายรักษ์ กล่าวด้วยว่า ในช่วงครึ่งปีหลังผู้ประกอบการไทยต้องเร่งปรับตัวใน 2 มิติ ได้แก่ ปรับตัวสู้ต้นทุนแพง โดยการยกระดับสินค้าและกระบวนการผลิต เพื่อเข้าสู่ตลาดที่แข่งขันด้วยสินค้าที่มีนวัตกรรม ตอบโจทย์เทรนด์โลกและผู้บริโภคยุคใหม่ และต้องบริหารความเสี่ยง โดยการกระจายตลาดหรือบุกตลาดใหม่ อาทิ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (RCEP) ซึ่งเป็นเขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดในโลก

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (21 ก.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top