BBL เผยกำไรสุทธิ H1/65 โต 6% ตามปริมาณสินเชื่อ-ตั้งสำรองลดลง

ธนาคารกรุงเทพ (BBL) และบริษัทย่อยรายงานกำไรสุทธิสำหรับครึ่งแรกปี 2565 จำนวน 14,079 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 6.0% จากครึ่งแรกปีก่อน โดยมีรายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 13.9% จากการเพิ่มขึ้นของปริมาณเงินให้สินเชื่อ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิอยู่ที่ 2.18% สำหรับรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยลดลง 19.8% ส่วนใหญ่เกิดจากการปรับมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินซึ่งเป็นไปตามสภาวะตลาด และรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิลดลงจากธุรกิจหลักทรัพย์ ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมจากการอำนวยสินเชื่อเพิ่มขึ้นสอดคล้องกับปริมาณเงินให้สินเชื่อที่ขยายตัว

สำหรับค่าใช้จ่ายจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 2.8% จากค่าใช้จ่ายเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงประสิทธิภาพการดำเนินงาน ส่งผลให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้จากการดำเนินงานอยู่ที่ 50.4% ทั้งนี้ ธนาคารตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นจำนวน 14,843 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ธนาคารยังคงยึดหลักความระมัดระวังในการตั้งสำรองโดยพิจารณาถึงความผันผวนของเศรษฐกิจโลก รวมถึงผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังคงอยู่

ธนาคารกรุงเทพยังคงดำรงฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง ตามแนวทางการดำเนินธุรกิจด้วยความระมัดระวังและรอบคอบ

ณ สิ้นเดือน มิ.ย.65 ธนาคารมีเงินให้สินเชื่อจำนวน 2,652,872 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5% จากสิ้นปี 64 โดยส่วนใหญ่เพิ่มขึ้นจากสินเชื่อลูกค้าธุรกิจรายใหญ่และสินเชื่อกิจการต่างประเทศ สำหรับอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อรวมยังคงอยู่ในระดับที่บริหารจัดการได้ที่ 3.4% ทั้งนี้ จากการที่ธนาคารยึดหลักการตั้งสำรองด้วยความระมัดระวังและรอบคอบมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตต่อเงินให้สินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตอยู่ในระดับแข็งแกร่งที่ 232.5%

ธนาคารมีเงินรับฝาก ณ สิ้นเดือน มิ.ย.65 จำนวน 3,147,149 ล้านบาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับสิ้นปีก่อน อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อเงินรับฝากอยู่ที่ 84.3% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น อัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ 18.9% 15.4% และ 14.6% ตามลำดับ ซึ่งอยู่ในระดับที่สูงกว่าอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด

ในช่วงไตรมาส 2/65 ความกังวลใจในเรื่องการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่ลดลง ส่งผลให้การบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนปรับตัวดีขึ้นและทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มขึ้นต่อเนื่องโดยล่าสุดอยู่ที่ประมาณ 7 แสนคนต่อเดือน สอดรับกับการผ่อนคลายมาตรการจำกัดการเดินทางของไทยและประเทศต่าง ๆ อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นในหลายประเทศ จากราคาพลังงานและอาหารโลกที่เพิ่มขึ้นจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ธนาคารกลางในประเทศต่าง ๆ ต้องเร่งปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย ส่งผลให้การขยายตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวลง ภาคการส่งออกของไทยในช่วงเดือนเม.ย.-พ.ค.65 ขยายตัว 10.2% จาก 14.8% ในไตรมาสก่อน ทั้งนี้ ความผันผวนของตลาดการเงินและเศรษฐกิจโลกในระยะข้างหน้ายังคงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป

จากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดและการเดินทางระหว่างประเทศ ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของไทยมีแนวโน้มฟื้นตัว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญความท้าทายจากค่าครองชีพและต้นทุนที่สูงขึ้นจากปัญหาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ระหว่างรัสเซียและยูเครน ตลาดการเงินที่ผันผวนจากความไม่แน่นอนของการเร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในประเทศเศรษฐกิจหลัก รวมถึงการชะลอตัวของการเติบโตของเศรษฐกิจโลก

ทั้งนี้ ธนาคารกรุงเทพยังคงช่วยเหลือลูกค้าอย่างต่อเนื่อง โดยให้การสนับสนุนภาพคล่องและเงินทุนหมุนเวียน พร้อมทั้งให้คำแนะนำในการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจตามแนวโน้มของการเปลี่ยนแปลง หรือเพิ่มโอกาสในการขยายธุรกิจไปยังต่างประเทศ ในขณะเดียวกันธนาคารได้ให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพฐานะการเงิน สภาพคล่อง และเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่แข็งแกร่ง

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top