ประธาน กมธ.แก้กม.ลูก หนุนสูตรคำนวณหาร 100 ชี้ไม่เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ

นายสาธิต ปิตุเตชะ รมช.สาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และ พรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.ยุติธรรม และประธานยุทธศาสตร์พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ส่งสัญญาณอาจกลับไปใช้สูตรคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ด้วยวิธีหาร 100 ว่า การปรับเปลี่ยนสูตรคำนวณหา ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อนั้น ตนคิดว่าไม่ได้มีใครเสียเปรียบหรือได้เปรียบ แต่ต้องร่างกฎหมายและกติการเลือกตั้งเพื่อความเป็นธรรม ส่วนใครจะได้เปรียบเสียเปรียบอยู่ที่การตัดสินใจของประชาชน และกติกาเป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น

ที่ผ่านมา คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็นทุกขั้นตอนว่าการใช้สูตรหารด้วย 500 จะมีความหมิ่นเหม่ผิดรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นหากทำกฎหมายที่รอบคอบปลอดภัยจะเป็นประโยชน์กับทุกฝ่ายและสอดคล้องกับหลักการ

อย่างไรก็ตาม หากกลับไปกลับมาจะทำให้ประชาชนไม่เชื่อมั่นต่อที่ประชุมร่วมรัฐสภา ซึ่งต้องตำหนิคนที่พยายามเปลี่ยนและกลับไปกลับมาว่ามีผลอะไรที่คิดแบบนั้น

นายสาธิต กล่าวว่า การออก พ.ร.ก.มาบังคับใช้แทนกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับอาจจำเป็น แต่การออก พ.ร.ก.โดยไม่มีทุกฝ่ายมาร่วมร่างกติกาในขั้นกรรมาธิการร่วมกันจะเป็นความขัดแย้งในขั้นตอนต่อไป ดังนั้นการจะทำให้บ้านเมืองราบรื่นก็ควรเป็นไปตามหลักการและกลไก

“ใครจะไปจะมา รัฐบาลจะอยู่หรือจะไป รัฐบาลใหม่จะมาแต่หลักการของประเทศต้องยังอยู่ เพื่อช่วยกันให้เกิดสิ่งนี้ให้ได้” นายสาธิต กล่าว

นายสาธิต กล่าวว่า ในการประชุมร่วมรัฐสภาในวันที่ 26-27 ก.ค.นี้จะมีการพิจาณาในมาตรา 24 ต่อจากการแก้ไขวิธีหารด้วย 100 เป็นหารด้วย 500 ในมาตรา 23 ถ้าพิจารณาเสร็จตามขั้นตอนจะถูกส่งไปที่ กกต. เพื่อทำความเห็น ซึ่งเมื่อที่ประชุมร่วมรัฐสภามีการแก้โดยเห็นด้วยกับ กมธ.เพื่อให้หารด้วย 500 แต่มีข้อบกพร่องในกฎหมายที่ต้องเสนอแก้ตามไปด้วยเพื่อให้สมบูรณ์ ซึ่งขณะนี้ กมธ.ยังมีการพูดคุยกันแต่ยังไม่ตกผลึกว่า ไม่ควรเป็นอำนาจ กมธ. แต่ควรเป็นอำนาจของที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อขอแก้ให้สมบูรณ์ตาม กมธ.เสียงข้างน้อยในมาตรา 23

แต่ขณะเดียวกันถ้ามีคนเห็นต่างจาก กกต.ว่า ถ้ามีการแก้ไขแบบสูตรหารด้วย 500 แล้วนำไปสู่การปฏิบัติไม่ได้หรือเป็นปัญหาในเชิงเทคนิค ตามที่ได้มีการตักเตือนไว้ตั้งแต่ต้นก็สามารถเสนอไปที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อนำข้อเสนอของ กกต.กลับมามีมติแก้ให้เป็นไปตามเสียงข้างมากของ กมธ.คือ หารด้วย 100 ได้ไม่ยาก ไม่ต้องเดินหน้าไปถึงศาลรัฐธรรรมนูญ ซึ่ง กกต.เป็นหน่วยงานที่มาร่วมทำกฎหมายตั้งแต่ต้น มาร่วมร่างรัฐธรรมนูญและให้ความเห็นว่า จะกลับไปหารด้วย 500 ไม่ได้

“ในแง่ทางเทคนิคจะเป็นอย่างไรไม่รู้ นี่ยังไม่พูดถึงปัญหาในเชิงคำนวณเศษ สุดท้ายการแก้กฎหมายต้องแก้ไม่ให้มีความเสี่ยงและผิดรัฐธรรมนูญ ฉะนั้นถ้า กกต.ให้ความเห็นก็กลับมาสู่ที่ประชุมร่วมของรัฐสภาเพื่อแก้ไขให้กลับไปตามร่าง กมธ.เสียงส่วนใหญ่ เราก็จะได้กฎหมายที่เป็นกติกาในอนาคตได้” นายสาธิต กล่าว




โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (22 ก.ค. 65)

Tags: , , , ,
Back to Top