BLAND เล็งผุด Mixed Use ในเมืองทองธานีหลังทุ่มงบร่วมสร้างระบบเชื่อมต่อรถไฟสีชมพู

บมจ.บางกอกแลนด์ (BLAND) ลงนามเซ็นสัญญากับ บริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของกลุ่มกิจการร่วมค้าบีเอสอาร์ (BSR JV consortium) ที่ร่วมทุนกันระหว่าง บมจ. บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ (BTS), บมจ. ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น (STEC) และ บมจ. ราช กรุ๊ป (TATCH) ใน “โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี” ด้วยเม็ดเงินลงทุน 4,000 ล้านบาทสำหรับส่วนต่อขยายจำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร 1) และสถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี โดยการก่อสร้างจะแล้วเสร็จและสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2568

นายปีเตอร์ กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ BLAND กล่าวว่า จากความร่วมมือในโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ระหว่าง BLAND และ NBM จะสามารถมอบประโยชน์ต่อสาธารณะโดยช่วยให้ประชาชนทั้งผู้ที่อยู่อาศัยและผู้ที่ทำงานอยู่ในเมืองทองธานีกว่า 300,000 คน รวมทั้งผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมที่มีกว่า 10 ล้านคนต่อปี จะได้รับความสะดวกสบายด้วยการได้ใช้บริการรถไฟฟ้าในการเดินทางอย่างต่อเนื่อง พร้อมยังช่วยบรรเทาปัญหาจราจรได้อีกทางหนึ่ง

ส่วนในด้านของโอกาสทางธุรกิจนั้น โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายที่เข้ามาในเมืองทองธานีจะช่วยส่งเสริมธุรกิจต่างๆ ในเมืองทองธานี เช่น ศูนย์การแสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค, โรงแรม, คอสโม บาซาร์, คอสโม วอล์ค, เอาท์เล็ท สแควร์, บีไฮฟ ไลฟ์สไตล์มอลล์ และ คอสโม ออฟฟิศ พาร์ค ให้เติบโตมากขึ้นอีก 10-20% นอกจากนี้ ยังจะเพิ่มศักยภาพและเพิ่มมูลค่าที่ดินเปล่าในเมืองทองธานีที่มีอยู่อีก 600 ไร่จะมีมูลค่าเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างมาก ซึ่งเราได้วางแผนไว้ว่าจะพัฒนาให้เป็นโครงการ Mixed Use เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของผู้คนรุ่นใหม่เป็นอย่างดี

ทั้ง 2 สถานีดังกล่าว จะเป็นเส้นทางส่วนต่อขยายเข้ามาในเมืองทองธานีจนถึงทะเลสาบเมืองทองธานีรวมเป็นระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ทั้งนี้ บริษัทได้ลงทุนการก่อสร้าง Skywalk ด้วยเม็ดเงิน 1,000 ล้านบาท เพื่อเชื่อมต่อจากโครงการฯ ไปยังศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็ค, โรงแรม, ร้านค้าปลีก และห้างสรรพสินค้าต่างๆ เพื่อรองรับการเติบโตและมอบความสะดวกสบายให้แก่ผู้ที่มาใช้บริการอย่างสูงสุด รวมทั้ง ยังเป็นการต่อยอดและเพิ่มศักยภาพของการเป็นทำเลทองสำหรับโครงการใหม่ต่างๆ ที่ได้เปิดตัวไปเมื่อเร็วๆ นี้ อาทิ โมริ คอนโดมิเนียม โครงการที่พักอาศัยจำนวน 1,040 ยูนิต และโรงเรียนสอนประกอบอาหารเลอโนท (Lenotre Culinary Arts School) ที่เป็นโรงเรียนสอนศิลปะการทำอาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่งที่ได้รับการยอมรับทั่วโลก” นายปีเตอร์ กล่าว

นายกวิน กาญจนพาสน์ กรรมการบริหาร NBM กล่าวว่า การลงนามในครั้งนี้ระหว่าง NBM และBLAND เป็นการลงนามในสัญญา 2 ฉบับ แบ่งเป็น

1. สัญญาให้การสนับสนุนการก่อสร้าง (Construction Support Agreement) โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี

2. สัญญาก่อสร้างทางเชื่อม (Skywalk Connection Agreement) จากโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้ามายังตัวอาคารของเมืองทองธานี

โดยภายใต้สัญญาดังกล่าว ทาง BLAND ได้อนุมัติเงินสมทบและค่าสิทธิให้กับ NBM ประมาณ 1,293.75 ล้านบาท (รวมภาษี มูลค่าเพิ่ม) เพื่อสนับสนุนการก่อสร้าง และพัฒนาส่วนต่อขยายเมืองทองธานี และเพื่อสิทธิของ BLAND หรือบริษัทในเครือในการสร้างทางเชื่อมสถานีต่อมายังอาคารหรือสิ่งก่อสร้างใดๆ อันเป็นกรรมสิทธิ์ของกลุ่ม BLAND ในเมืองทองธานีเข้ากับสถานีรถไฟฟ้านับแต่วันที่ทำสัญญาจนถึงวันที่สิทธิในการดำเนินงานระบบรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายเมืองทองธานี ตามสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูระหว่าง NBM และ รฟม.สิ้นสุดลง และยังได้อนุมัติเงินสมทบเพื่อสนับสนุนการบำรุงรักษาจำนวน 10.35 ล้านบาทต่อปี (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) นับจากวันที่ส่วนต่อขยายเมืองทองธานีเปิดให้บริการ

นายกวิน กล่าวว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานี ถือเป็นอีกหนึ่งโครงการในธุรกิจ MOVE ที่ BTS ให้ความสำคัญ เพราะเรามุ่งหวังจะเป็นผู้ให้บริการเดินทางแบบ door-to-door เพื่อตอบโจทย์การเดินทาง ตั้งแต่ก้าวแรกถึงก้าวสุดท้ายให้กับผู้โดยสารอย่างสมบูรณ์ ภายใต้การให้บริการที่สะดวกและปลอดภัย โดยโครงการดังกล่าว จะเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพูเส้นทางหลัก ช่วงแคราย-มีนบุรี ซึ่งสามารถเดินทางเชื่อมต่อไปยังรถไฟฟ้าได้อีก 4 สายได้แก่ รถไฟฟ้าสายสีม่วง (ช่วงบางใหญ่-บางซื่อ), รถไฟชานเมืองสายสีแดง (ช่วงบางซื่อ-รังสิต), รถไฟฟ้าสายสีเขียว (ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) และรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี)

โครงการดังกล่าวจะใช้ระยะเวลาการก่อสร้างประมาณ 37 เดือน และคาดว่าจะก่อสร้างแล้วเสร็จ เปิดให้บริการได้ในปี 2568 ซึ่งคาดว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารอยู่ที่ 13,785 คน/เที่ยว/วัน หากโครงการดำเนินการแล้วเสร็จ จะช่วยบรรเทาปัญหาการจราจรในการเดินทางเข้าพื้นที่เมืองทองธานีได้เป็นอย่างดี เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นชุมชนขนาดใหญ่ และมีผู้เดินทางเข้า-ออกเป็นจำนวนมาก

ส่วนภาพรวมโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จำนวน 30 สถานี (ไม่รวมสถานีอิมแพ็คเมืองทองธานี และสถานีทะเลสาบเมืองทองธานี) มีความคืบหน้าโครงการ 89.43% แบ่งเป็นงานโยธา 91.01% และงานระบบรถไฟฟ้า 87.90% ซึ่งคาดว่าจะเปิดให้บริการได้บางส่วนช่วงต้นปี 2566

ด้านนายคีรี กาญจนพาสน์ ประธานกรรมการ BTS และ NBM ผู้รับสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู เปิดเผยว่า ส่วนต่อขยายสายสีชมพูเข้าเมืองทองธานี จำนวน 2 สถานี ถือว่ามีความสำคัญ และเป็นระบบการขนส่งมวลชนที่จะช่วยอำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่อาศัย และผู้ที่ทำงานอยู่ในเมืองทองธานีจำนวนกว่า 300,000 คน อีกทั้งยังรองรับผู้ที่เดินทางเข้ามาร่วมงานแสดงสินค้าและการประชุมกว่า 10 ล้านคนต่อปี ซึ่งเป็นส่วนที่เอกชนลงทุนเองทั้งหมด โดยได้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมิ.ย.2565 ตามแผนงานจะแล้วเสร็จเปิดให้บริการได้ในปี 2568 แต่จะพยายามเร่งรัดเปิดบริการในปี 2567

ส่วนรถไฟฟ้าสายสีชมพูเส้นทางหลัก (แคราย-มีนบุรี) ระยะทาง 34.5 กิโลเมตร ซึ่งได้เริ่มก่อสร้างเมื่อเดือนมิ.ย. 2561 ปัจจุบันการก่อสร้างล่าช้ากว่าแผนประมาณ 1 ปีเศษ เนื่องจากมีอุปสรรคหลายอย่าง โดยอุปสรรคสำคัญคือ สถานการณ์โควิด ที่ทำให้มีปัญหาด้านแรงงาน โดยขณะนี้การก่อสร้างได้เร่งรัดตามแผนงาน โดยจะมีการทดสอบระบบการเดินรถประมาณ 5 เดือน คาดว่าจะเริ่มทยอยเปิดให้บริการเป็นบางช่วงได้อย่างช้าไม่เกินไตรมาส 1/2566

ส่วนอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีชมพู นั้น มีกำหนดในสัญญาร่วมลงทุนฯ กับ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ซึ่งการลงทุนรถไฟฟ้านั้นไม่สามารถคุ้มค่าได้จากการเก็บค่าโดยสาร ในขณะที่การกำหนดอัตราค่าโดยสารเท่าไรนั้นจะต้องคำนึงถึงผู้โดยสารด้วย ซึ่งการที่บีทีเอส ลงทุนรถไฟฟ้าเพื่อให้เกิดเป็นโครงข่ายที่จะสร้างรายได้จากธุรกิจอื่นๆ เช่น กรณีเชื่อมเข้าเมืองทองธานี ก็เพื่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มในพื้นที่ นอกเหนือจากรายได้ค่าโดยสาร

ทั้งนี้ ยอมรับว่า ความล่าช้ากว่า 1 ปีที่ผ่านมานั้น ทำให้มีต้นทุนเพิ่มแต่เมื่อเทียบกับมูลค่าโครงการถือว่าไม่มาก บริษัทมีศักยภาพในการบริหารจัดการ อย่างไรก็ตามเนื่องจากเป็นผลกระทบจากโควิด ไม่ได้เกิดจากความผิดฝ่ายใด เชื่อว่า รัฐบาลน่าจะมีมาตรการเยียวยาให้เอกชนในด้านของผลกระทบจากโควิด ซึ่งหากถึงเวลาบริษัทจะทำเรื่องเสนอขออนุเคราะห์จากรฟม.หรือกระทรวงคมนาคมต่อไป

“เส้นทางสายสีชมพู สามารถเชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าสายสีเขียว ได้ที่ สถานีวัดพระศรีฯ เชื่อมต่อสายสีม่วง ที่สถานีแคราย เชื่อมต่อสายสีส้มที่สถานีมีนบุรี และเชื่อมต่อสายสีเทาที่สถานีวัชรพล จึงเป็นโครงข่ายที่ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบรางที่เชื่อมต่อกับในเมืองและนอกเมืองได้”นายคีรีกล่าว

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการ และผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE ของ BTS กล่าวว่า การเปิดให้บริการโมโนเรลสายสีชมพู จะแบ่งเป็น 3 ระยะ ครบตลอดสายในปี 2566 โดยเริ่มต้นปี จะเปิดให้บริการ ช่วงแรก จากสถานีมีนบุรี-สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ กลางปีจะเปิดช่วงที่ 2 จาก สถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ- สถานีกรมชลประทาน และปลายปีเปิดช่วงที่ 3จาก สถานีกรมชลประทาน -สถานีศูนย์ราชการนนทบุรี สำหรับส่วนต่อขยายเข้าเมืองทองธานีนั้นจะเปิดในปี 2567 -2568 โดยคาดว่าจะมีผู้โดยสารประมาณ 200,000 คน/วัน

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (02 ส.ค. 65)

Tags: , , , , ,
Back to Top