ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้าฯ ก.ค.เพิ่มทุกภาค หลังผ่อนคลายมาตรการ-ราคาพลังงานชะลอลง

นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC-CI) ประจำเดือนก.ค. 65 ซึ่งเป็นการสำรวจความคิดเห็นของภาคธุรกิจและหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ในระหว่างวันที่ 25-29 ก.ค. 65 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 37.9 เพิ่มขึ้นจากระดับ 36.3 ในเดือนมิ.ย. 65

โดยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทยในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

– กรุงเทพฯ และปริมณฑล ดัชนีฯ อยู่ที่ 37.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 35.5

– ภาคกลาง ดัชนีฯ อยู่ที่ 38.8 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 37.5

– ภาคตะวันออก ดัชนีฯ อยู่ที่ 41.5 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 40.0

– ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 37.7 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 36.4

– ภาคเหนือ ดัชนีฯ อยู่ที่ 37.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 35.7

– ภาคใต้ ดัชนีฯ อยู่ที่ 35.9 เพิ่มขึ้นจากเดือนมิ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 34.3

สำหรับปัจจัยสำคัญที่ส่งผลกับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ก.ค. 65 มีดังนี้

– ปัจจัยบวก ได้แก่

1. ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ได้ผ่อนคลายมาตรการในการเดินทางระหว่างประเทศ และยกเลิกระบบ Thailand Pass สำหรับคนไทยและชาวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. 65 เป็นต้นไป ส่วนการบริโภคสุราหรือแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร สามารถเปิดได้ถึงเวลา 02.00 น. ตามที่กฎหมายกำหนด

2. สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประมาณการเศรษฐกิจไทยในปี 65 จะขยายตัวที่ 3.5% (ช่วงคาดการณ์ 3.0-4.0%)

3. ราคาน้ำมันขายปลีกแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 91 (E10) และแก๊สโซฮอล์ ออกเทน 95 (E10) ในประเทศปรับตัวลดลงประมาณ 7.30 บาทต่อลิตร

4. การส่งออกของไทยเดือน มิ.ย. 65 ขยายตัว 11.85% มูลค่าอยู่ที่ 26,553.06 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และการนำเข้าขยายตัว 24.85% มีมูลค่าอยู่ที่ 28,082.34 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่งผลให้ดุลการค้าขาดดุล 1,529.28 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

5. SET Index เดือน ก.ค. 65 ปรับตัวเพิ่มขึ้น 8.08 จุด จาก 1,568.33 ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 65 เป็น 1,576.41 ณ สิ้นเดือน ก.ค. 65

6. ราคาพืชผลทางการเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้นหรือทรงตัวในระดับที่ดี โดยเฉพาะมันสำปะหลัง ยางพารา และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

– ปัจจัยลบ ได้แก่

1. ความกังวลของเศรษฐกิจยังชะลอตัวลง ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพและราคาสินค้าที่ทรงตัวอยู่ในระดับสูง

2. ความวิตกกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน และการทำธุรกิจ

3. สถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครน ส่งผลให้ราคาน้ำมันโลกมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น และกระทบต่อต้นทุนการผลิตสินค้า ซึ่งเป็นปัจจัยที่เพิ่มแรงกดดันของการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกให้ช้าลง

4. ความกังวลต่อสถานการณ์น้ำท่วม และน้ำป่าไหลหลากในบางพื้นที่ของภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จนส่งผลเสียหายต่อทรัพย์สินของประชาชน

5. ค่าเงินบาทปรับตัวอ่อนค่าขึ้นเล็กน้อย จากระดับ 34.972 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือนมิ.ย. 65 เป็น 36.344 บาท/ดอลลาร์ ณ สิ้นเดือน ก.ค. 65

ทั้งนี้ มีข้อเสนอแนะต่อภาครัฐ และแนวทางการดำเนินการของภาคเอกชน ดังนี้

– รัฐบาลควรดูแลเรื่องต้นทุนของผู้ประกอบการที่สูงขึ้น จากระดับราคาพลังงานที่เพิ่มขึ้น

– ปัญหาคุณภาพชีวิต ความเหลื่อมล้ำในการดำเนินชีวิตจากราคาสินค้าต่างๆ ที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้น จนกระทบต่อการใช้ชีวิต และต้นทุนในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ

– แนวทางการดูแลนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทย และชาวต่างชาติที่จะเข้าไปท่องเที่ยวได้อย่างปลอดภัย

– แนวทางการป้องกัน และเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ อาทิ น้ำท่วมหรือน้ำป่าไหลหลากเข้าบ้านเรือนประชาชน

– แนวทางการป้องกัน และควบคุมการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสทั้งจากไวรัสโควิด-19 และฝีดาษลิง ที่จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตภาคประชาชน และการดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ

– กระตุ้นประชาชนให้เร่งฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นให้ได้มากที่สุด เพื่อเป็นภูมิคุ้มกันไม่ให้เกิดผลรุนแรงหากได้มีการสัมผัสเชื้อ

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top