คกก.เฉพาะกิจฯ เห็นชอบ 4 มาตรการเร่งด่วนรับมือราคาพลังงาน-วัตถุดิบการเกษตร

นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ แถลงผลการประชุมวันนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เห็นชอบแนวทางเตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ ผ่านมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick win) และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Policy) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ โดยมอบหมายให้คณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์สถานกรณ์วิกฤตเศรษฐกิจ พิจารณากำหนดรายละเอียดมาตรการ และเสนอคณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจ พิจารณาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

นายกฤษฎา กล่าวว่า ที่ประชุมได้มีการประเมินสถานการณ์ต่างๆ ที่มีโอกาสกลายเป็นวิกฤต พร้อมทั้งมีแผนรองรับสถานการณ์ ใน 4 ด้าน 1.วิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ 2.วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร 3.วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMES และ 4.วิกฤตเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งได้เสนอแนวทางที่ควรจะดำเนินการในระยะสั้นและระยะยาวให้ที่ประชุมรับทราบ

นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะอนุกรรมการและเลขานุการ คณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤติเศรษฐกิจ ยืนยันว่า จำเป็นต้องเตรียมความพร้อม และรัฐบาลให้ความสำคัญเรื่องของต้นทุน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องพลังงาน วัตถุดิบ หรืออาหาร โดยให้ความมั่นใจว่า จะไม่ขาดแคลน ส่วนด้านระดับราคานั้น รัฐบาลจะพยายามเข้าไปดูแลไม่ให้กระทบกับประชาชน

นายพรชัย กล่าวว่า ขณะนี้มีหลายมาตรการที่ได้ดำเนินการอยู่ เช่น การช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับมอเตอร์ไซด์รับจ้าง 250 บาทต่อเดือน ช่วยเหลือผู้ขับรถแท็กซี่ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน การลดภาระค่าไฟฟ้า รวมถึงค่าก๊าซหุงต้ม ซึ่งมาตรการเหล่านี้จะสิ้นสุดภายใน 1-2 เดือนนี้ ซึ่งรัฐบาลได้มอบหมายให้ไปพิจารณาต่อว่าจะดำเนินการอย่างไร เนื่องจากสถานการณ์บางส่วนเปลี่ยนแปลงไป เช่น ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวลดลง ซึ่งทางอนุกรรมฯ จะไปหารือร่วมกับกระทรวงพลังงานต่อไป

ทั้งนี้ ด้านวัตถุดิบการเกษตร เช่น ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์ยังไม่ขาดแคลน แต่มีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าเกษตรบางรายการ มีราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุน ขณะที่ภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs พบว่าหนี้ครัวเรือนเริ่มลดลงตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ แต่รายจ่ายครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมวดค่าโดยสาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง จึงต้องไปดูมาตรการที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชนต่อไป

สำหรับมาตรการที่จะดำเนินการต่อไป ประกอบด้วย มาตรการระยะเร่งด่วน (Quick win) ได้แก่ 1. ในพ.ร.ก.ซอฟโลนท์ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะมีการเพิ่มขอบเขตการให้สินเชื่อ เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตและเทคโนโลยี 2.มาตรการประหยัดพลังงาน ขอความร่วมมือจากภาครัฐและเอกชน และการควบคุมราคาพลังงาน 3.การลดภาระการเดินทางสาธารณะ ด้วยการออกบัตรโดยสารตั๋วเดือน สำหรับรถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน รถเมล์ ซึ่งกระทรวงคมนาคมพร้อมดำเนินการ และ 4. การบริหารจัดการปุ๋ย เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับภาคเกษตร และมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow up Urgent Policy) เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต

ด้านนายวิชญายุทธ บุญชิต รองเลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยว่า สถานการณ์เศรษฐกิจโลกเริ่มชะลอตัว จากวิกฤตราคาพลังงาน เงินเฟ้อในครึ่งปีแรกยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และคาดว่าจะชะลอตัวลงในครึ่งปีหลัง และอัตราดอกเบี้ยที่ยังปรับตัวต่อเนื่อง ส่วนเศรษฐกิจไทย ในไตรมาสที่ 2 ยังปรับตัวดีขึ้นจากไตรมาสแรก โดยมีแรงสนับสนุนจากการใช้จ่ายการบริโภคภาคเอกชนภายในประเทศ การท่องเที่ยว การส่งออกที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ทั้งนี้ ประชุมได้ประเมินสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน โดยได้กำหนดฉากทัศน์ 3 แบบ

1. ในกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังยืดเยื้อ แต่มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐมีลักษณะทรงตัว ถ้าเป็นกรณีนี้ เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ตามการประมาณการณ์ไว้ โดยสภาพัฒน์ฯ ประเมินจีดีพี ปี 65 ที่ 2.5-3.5% กระทรวงการคลัง ประเมินจีดีพีที่ 3.5% ธนาคารแห่งประเทศไทย ประเมินจีดีพีที่ 3.3% ส่วนปี 66 ยังคาดว่าเศรษฐกิจไทยปรับตัวดีขึ้น

2. ในกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังยืดเยื้อ แต่มาตรการตอบโต้ทางเศรษฐกิจ ระหว่างรัสเซียกับสหรัฐทวีความรุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้อุปสงค์ อุปทานน้ำมัน และพลังงานในตลาดโลกปรับตัวไม่ทัน ทำให้ราคาน้ำมันในตลาดโลกปรับตัวสูงขึ้นอีกครั้ง อาจทำให้เศรษฐกิจโลกขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้ และทำให้เศรษฐกิจโลกชะลอตัวได้ และกรณีที่อาจส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้า ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่ประมาณการณ์ไว้เล็กน้อย

3. ในกรณีความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนยังยืดเยื้อ และขยายขอบเขตความขัดแย้งชัดเจน เป็นฝั่งตะวันตกกับรัสเซียและจีน ถ้าเป็นกรณีนี้ จะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทยมากขึ้น

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top