รมว.ดีอีเอส แจงกระทู้ปมควบรวม TRUE-DTAC ปัดเอื้อประโยชน์ ยันกสทช.กำกับดูแลราคา

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ตอบกระทู้ถามสดของน.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล เรื่องการผูกขาดระบบเศรษฐกิจของประเทศไทย แทนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม โดยเฉพาะกรณีล่าสุดกับการควบรวมธุรกิจระหว่าง บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) และ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ที่ประชาชนเสี่ยงแบกภาระค่าบริการเพิ่มขึ้นว่า เรื่องของการควบรวมกิจการ TRUE-DTAC นั้น เป็นเรื่องที่รัฐบาลให้ความสนใจและติดตามมาโดยตลอด โดยเฉพาะกรณีที่มีการควบรวมกิจการและอาจทำให้มีการฮั้วราคาหรือเกิดการแข่งขันไม่เต็มที่ก็จะเป็นปัญหา ซึ่งรัฐบาลไม่เห็นด้วยแน่นอน

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) มีแนวคิดตรงกันกับรัฐบาล คือ กสทช.สามารถควบคุมราคาค่าบริการได้อยู่แล้ว ซึ่งก็มีนโยบายชัดเจนว่าจะไม่ให้ขึ้นราคาแน่นอน ยืนยันว่ามีการควบคุมราคา ส่วนกรณีที่มีการแข่งขันไม่เป็นธรรม เช่น ออกมาตรการบางอย่างกีดกันคู่แข่งหรือประชาชนไม่ได้ประโยชน์ ก็จะมีการออกมาตรการโดย กสทช.เพื่อกำกับดูแลต่อไป ดังนั้นขอยืนยันว่าเรื่องการขึ้นราคาไม่น่าจะเกิดขึ้นจากการควบรวมกิจการครั้งนี้

นายชัยวุฒิ ระบุว่า กรณีระบุว่ามีการผูกขาดหรือเอื้อประโยชน์นั้น เป็นมุมมองในเชิงลบมากเกินไป ซึ่งบางนโยบายเป็นเรื่องต้องทำ เพราะบางธุรกิจไม่สามารถแข่งขันได้จริง อาทิ ธุรกิจการสื่อสารหรือโทรคมนาคมในอดีตมีการผูกขาดโดยรัฐ ส่วนปัจจุบันมีการแข่งขันและไม่เกิดปัญหาการผูกขาดโดยมีสำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เป็นผู้กำกับดูแล และได้รับเรื่องร้องเรียนจากประชาชนรวมถึงเอกชนเกี่ยวกับปัญหาการควบรวมดังกล่าวด้วย และทราบว่า กสทช.กำลังศึกษาและจะมีคำตอบเร็ว ๆ นี้ว่าจะทำอย่างไรต่อไปเกี่ยวกับเรื่องนี้

ทั้งนี้ รัฐบาลมีนโยบายสำคัญในการส่งเสริมเศรษฐกิจให้เกิดการแข่งขันโดยเสรีในทุกด้าน และควบคุมกฎกติกาเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมในการแข่งขันมาโดยตลอด ยกตัวอย่างการค้าปลีก ประชาชนได้ประโยชน์จากการซื้อของในราคาที่เป็นธรรม มีการลดราคาและแข่งขันราคากัน

นายชัยวุฒิ ยืนยันว่า รัฐบาลหรือรัฐมนตรีทุกคนเชื่อว่าไม่มีใครได้ประโยชน์จากการควบรวมกิจการ และเป็นเรื่องที่เอกชนคุยกันเอง เป็นสิทธิเสรีภาพในการทำธุรกิจ รัฐบาลมีกฎหมายกำกับดูแล ถ้าจะไปสั่งหรือมีคำสั่งที่ไม่มีกฎหมายรองรับหรือไม่มีอำนาจคนสั่งก็มีความผิด การบริหารราชการแผ่นดิน ไม่ใช่เรื่องที่เห็นว่าไม่ชอบแล้วจะไปสั่งให้ทำได้ แต่ต้องไปดูว่ามีอำนาจหรือไม่ เรื่องนี้ยืนยันว่า กสทช.ศึกษาอยู่ และมีแนวทางกำกับดูแลหรือมีคำสั่งอะไรต่อไป ส่วนเรื่องนโยบาย รัฐบาลให้สิทธิเสรีภาพเอกชนทุกราย ไม่มีเอื้อประโยชน์ ธุรกิจโทรคมนาคมก็แข่งขันกันอย่างเต็มที่

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (11 ส.ค. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top