คลังเผยผลเบิกจ่ายภาครัฐ 10 เดือนปีงบ 65 แตะ 2.67 ล้านลบ. มั่นใจสิ้นปีทำได้ 93%

น.ส.กุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า ภาพรวมการเบิกจ่ายงบประมาณในช่วง 10 เดือนแรก (ต.ค.64 – ก.ค.65) ของปีงบประมาณ 2565 อยู่ที่ 2.67 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.14% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่ 3.1 ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายลงทุนใช้จ่ายแล้ว 459,180 ล้านบาท คิดเป็น 76.08% ของวงเงินงบประมาณ 603,510 ล้านบาท รายจ่ายประจำใช้จ่ายแล้ว 2.21 ล้านล้านบาท คิดเป็น 88.57% ของวงเงินงบประมาณ 2.49 ล้านล้านบาท สำหรับเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี ใช้จ่ายแล้ว 2.35 แสนล้านบาท คิดเป็น 98.74% ของวงเงินงบประมาณ 2.38 แสนล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ 2565 หน่วยงานภาครัฐจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ 93% โดยแบ่งเป็น งบรายจ่ายประจำ 98% และงบลงทุนราว 75% ซึ่งจะช่วยสนับสนุนให้ GDP ปีนี้เติบโตได้ 3.5%

อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าวว่า กรมฯ ได้ติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง มีการส่งคณะทำงานเฉพาะกิจในการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่าย ทั้งส่วนกลาง และคลังจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ให้ดำเนินการเบิกจ่ายได้ตามแผนการใช้จ่ายเงิน รวมทั้งแจ้งหน่วยงานที่ยังเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายให้เร่งรัดการดำเนินงาน การก่อหนี้และเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 65

น.ส.กุลยา กล่าวด้วยว่า กรมบัญชีกลางได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการ ภายใต้เจตนารมณ์ของการออกกฎกระทรวงกำหนดพัสดุและวิธีการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่รัฐต้องการส่งเสริมหรือสนับสนุน (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2563 ได้แก่

1.ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างกับผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และ 2.ส่งเสริมการจัดซื้อจัดจ้างพัสดุที่ผลิตภายในประเทศ (สินค้า Made In Thailand) ส่งผลให้ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 มีผลการจัดซื้อจัดจ้างผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับงานกับหน่วยงานของรัฐทั้งสิ้นมูลค่า 421,881 ล้านบาท จากมูลค่าจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด 804,447 ล้านบาท หรือคิดเป็น 52.44% ของวงเงินงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างทั้งหมด

โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. … ในประเด็นการเก็บเงินสำหรับการอุทธรณ์ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพด้านการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐให้มีความคล่องตัวมากขึ้น โดยจะใช้รูปแบบการอุทธรณ์ออนไลน์แทนการรับ-ส่งหนังสือ เพื่อลดขั้นตอนและลดระยะเวลาการดำเนินการ ลดภาระของผู้ประกอบการและหน่วยงานของรัฐด้วย อีกทั้งจะมีการกำหนดอัตราค่าใช้จ่าย และค่าธรรมเนียมตามมูลค่าของโครงการที่มีการอุทธรณ์ โดยจะคืนค่าใช้จ่ายให้กรณีที่การอุทธรณ์เป็นไปอย่างสมเหตุสมผล

“การปรับปรุงร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว จะช่วยลดปัญหาการอุทธรณ์ ที่ผู้อุทธรณ์มีเจตนาไม่สุจริต ประวิงเวลา หรือเพียงแค่ใช้สิทธิของตนตามกฎหมายเท่านั้น ซึ่งส่งผลกระทบให้การจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานของรัฐ และการเบิกจ่ายเงินของภาครัฐมีความล่าช้า กระทบไปถึงเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศด้วย” อธิบดีกรมบัญชีกลาง กล่าว

น.ส.กุลยา กล่าวอีกว่า กรมบัญชีกลาง ได้ดูแลเรื่องสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ป่วยโควิด-19 โดยปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล กรณีผู้มีสิทธิหรือบุคคลในครอบครัวติดเชื้อโควิด-19 อย่างต่อเนื่อง และยังคงดำเนินการขยายสิทธิการเข้าถึงยาราคาสูง โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้ผู้มีสิทธิสามารถเบิกจ่ายค่ายาที่มีราคาแพงสำหรับกลุ่มโรคที่มีค่าใช้จ่ายสูง

โดยขณะนี้มีจำนวนผู้มีสิทธิในระบบเบิกจ่ายตรงสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการ (ข้อมูล ณ วันที่ 31 ก.ค.65) 4,738,115 คน แบ่งเป็นเจ้าของสิทธิ 2,221,434 คน และบุคคลในครอบครัว 2,516,681 คน และมีผลการเบิกจ่ายเงินสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่เบิกจ่ายจากงบประมาณรายจ่าย งบกลาง รายการค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลข้าราชการ ลูกจ้าง และพนักงานของรัฐแล้ว 74,267 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคทั่วไป 64,896 ล้านบาท และค่ารักษาพยาบาลผู้ป่วยโรคโควิด จำนวน 9,370 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ส.ค. 65)

Tags: , , ,
Back to Top