บีโอไอ เตรียมจัดงานซับคอนอีอีซี 2022 ในจ.ชลบุรี 24-26 ส.ค.หวังกระตุ้นอุตฯ ผลิตชิ้นส่วน

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า บีโอไอ ร่วมกับสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และอินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เตรียมจัดงานแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรมและการจับคู่เจรจาธุรกิจในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ภายใต้ชื่องาน “ซับคอน อีอีซี 2022” (Subcon EEC 2022) ณ ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาตินงนุชพัทยา จังหวัดชลบุรี ซึ่งถือเป็นการจัดงานซับคอนครั้งแรกในภาคตะวันออกที่ต่อยอดความสำเร็จจากงานซับคอนซึ่งจัดเป็นประจำทุกปีที่กรุงเทพฯ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายซึ่งส่วนใหญ่จะอยู่ในพื้นที่อีอีซีให้มากยิ่งขึ้น หวังกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุน

โครงการอีอีซีเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมขนาดใหญ่ของประเทศที่ครอบคลุม 3 จังหวัดเศรษฐกิจ ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา ถือเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุน โดยในช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.65) มีโครงการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่อีอีซีจำนวน 217 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวม 104,850 ล้านบาท ซึ่งคิดเป็น 48% ของมูลค่าการลงทุนทั้งหมด

“บีโอไอให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในพื้นที่ต่างๆ เพื่อกระจายกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอีอีซีซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนการลงทุนสูงที่สุดและมีศักยภาพในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งการจัดงานในครั้งนี้จะช่วยยกระดับการลงทุนในประเทศไทยโดยเฉพาะในพื้นที่อีอีซีไปสู่การเป็นศูนย์กลางผู้ผลิตชิ้นส่วนระดับภูมิภาค รองรับอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ที่จะสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับประเทศไทย” น.ส.ดวงใจ กล่าว

ทั้งนี้มีบริษัทผู้ซื้อชิ้นส่วนมาร่วมงาน ได้แก่ บริษัท Voestalpine Railway Systems (Thailand) ผู้ผลิตระบบรางรถไฟสัญชาติออสเตรีย, บริษัท Autostore ผู้ผลิตระบบคลังสินค้าอัจฉริยะสัญชาตินอร์เวย์, บริษัท Autoliv ผู้ผลิตอุปกรณ์ด้านความปลอดภัยในยานยนต์ เช่น เข็มขัดนิรภัย ถุงลมนิรภัยสัญชาติสวีเดน, บริษัท Dayou Winia (Thailand) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านสัญชาติเกาหลีใต้, บริษัท Midea (Thailand) ผู้ผลิตเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านสัญชาติจีน, บริษัท BMW Group บริษัท ISUZU Motors (Thailand) บริษัท Siam Kubota บริษัท Electrolux เป็นต้น

งานซับคอนอีอีซี 2022 จัดขึ้นระหว่างวันที่ 24-26 ส.ค.นี้ โดยจะมีทั้งการจัดแสดงชิ้นส่วนอุตสาหกรรม เทคโนโลยีและนวัตกรรม กิจกรรมการเจรจาจับคู่ธุรกิจ และการสัมมนาและสัมมนาเชิงปฏิบัติการจากหลายหน่วยงาน เช่น บีโอไอ, กรมโรงงานอุตสาหกรรม, สถาบันไทย-เยอรมัน, อีอีซี ออโตเมชัน พาร์ค, ศูนย์ความเป็นเลิศด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมิติ (CoRE) , สมาคมผู้ประกอบการระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ไทย (TARA) เป็นต้น คาดว่าจะมีผู้ร่วมงานกว่า 6,000 คน เกิดการจับคู่ธุรกิจ 400 คู่ มูลค่า 1,200 ล้านบาท

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (15 ส.ค. 65)

Tags: , ,
Back to Top