กรมเจรจาฯลงพื้นที่จันทบุรีเร่งใช้ FTA ดันทุเรียน-กุ้ง-จิวเวลรี่บุกตลาดตปท.

นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ เปิดเผยว่า กรมได้จัดโครงการพัฒนาความพร้อมทางการค้าของสหกรณ์ไทยสู่การค้าเสรี โดยร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์ และได้มอบหมายให้นางสาวบุณิกา แจ่มใส รองอธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ลงพื้นที่พบหารือกับกลุ่มเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสมาชิกสหกรณ์ พร้อมจัดสัมมนาเรื่อง “แนวทางการพัฒนาศักยภาพสินค้าเกษตรไทย รองรับการค้าเสรี” ระหว่างวันที่ 1-3 สิงหาคม ที่ผ่านมา ณ จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นการทำงานแบบบูรณาการร่วมกับสำนักงานพาณิชย์จังหวัดจันทบุรี กรมส่งเสริมสหกรณ์ และสำนักงานสหกรณ์จังหวัดจันทบุรี โดยมีเกษตรกร ผู้ประกอบการ และสมาชิกสหกรณ์ในจังหวัดจันทบุรี กว่า 150 คน เข้าร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้

นางสาวบุณิกา กล่าวว่า การสัมมนาดังกล่าว จัดขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้ด้านการใช้นวัตกรรมในการพัฒนา ต่อยอดสินค้าให้มีคุณภาพและมาตรฐาน สอดรับกับความต้องการของตลาดยุคใหม่ ที่ผู้บริโภคให้ความสำคัญเรื่องสินค้าเพื่อสุขภาพและสินค้า BCG ที่คำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมมากขึ้น รวมทั้งมีการใช้ช่องทางตลาดดิจิทัลหรืออีคอมเมิร์ซ (e-Commerce) เข้ามาอำนวยความสะดวกในการซื้อขายสินค้า และที่สำคัญคือ การใช้ประโยชน์จากความตกลงการค้าเสรี หรือ FTA เสริมศักยภาพการแข่งขันทางการค้าของไทยในตลาดต่างประเทศ

นางสาวบุณิกา เพิ่มเติมว่า กรมยังได้พบหารือกับกลุ่มเกษตรกรเลี้ยงสัตว์น้ำอ่าวคุ้งกระเบนด้วยระบบชลประทานน้ำเค็ม จังหวัดจันทบุรี เป็นกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำที่รวมตัวกันภายใต้โครงการพัฒนาและการส่งเสริมเลี้ยงกุ้งทะเลรอบอ่าวคุ้งกระเบน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของศูนย์ศึกษาการพัฒนาอ่าวคุ้งกระเบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริเรื่องการพัฒนาและการใช้ประโยชน์พื้นที่ชายฝั่งทะเลภาคตะวันออกของประเทศไทยตั้งแต่ปี 2530 เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้จากการเลี้ยงกุ้งขาวอนามัยกุ้งกุลาดำ และเลี้ยงปลา ด้วยระบบธรรมชาติสูบน้ำทะเลขึ้นมาใช้

ปัจจุบันมีสมาชิกกลุ่มจำนวน 50 ราย มีผลผลิตกุ้งในช่วง 6 เดือนของปี 2565 (เดือนมกราคม-มิถุนายน) ประมาณ 700 ตัน ยอดจำหน่ายกว่า 105 ล้านบาท รวมถึงประชุมหารือกับเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนและผู้ประกอบการ เพื่อกรุยทางให้ผลผลิตทุเรียนจากจังหวัดจันทบุรีได้ใช้ประโยชน์จาก FTA เพิ่มศักยภาพการส่งออกของไทยไปตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดที่ไทยมี FTA ด้วย 18 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง อาเซียน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ อินเดีย ชิลี และเปรู ซึ่งได้ยกเลิกการเก็บภาษีนำเข้าทุเรียนจากไทยแล้ว เหลือเพียงเกาหลีใต้ที่ยังคงเก็บภาษีนำเข้ากับทุเรียนจากไทยที่ร้อยละ 36 แต่จะทยอยลดเหลือร้อยละ 0 ในปี 2574 ภายใต้ความตกลง RCEP

จันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีความสำคัญที่ทำให้ทุเรียนไทยเป็นที่รู้จักในตลาดโลก เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ปลูกทุเรียนมากที่สุดในประเทศ โดยทุเรียนของจันทบุรีมีเอกลักษณ์คือ มีกลิ่นไม่แรง รสชาติหวานหอมมัน เนื้อละเอียด แห้ง มีสีเหลืองอ่อน และมีสารต่อต้านอนุมูลอิสระจำนวนมาก นับว่ามีความโดดเด่นและมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว เป็นที่นิยมในตลาดต่างประเทศ ซึ่งความรู้ที่ได้รับจากการสัมมนาในครั้งนี้ จะช่วยยกระดับสินค้าเกษตร โดยเฉพาะทุเรียนของจังหวัดจันทบุรีได้ นางสาวบุณิกา กล่าวเสริม

นอกจากนี้ กรมได้ลงพื้นที่และจัดสัมมนาเรื่อง “ส่งเสริมการส่งออกอัญมณี ด้วยประโยชน์จาก FTA” ณ บริษัท เทวิกา จิวเวลรี่ จำกัด เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการใช้ประโยชน์จาก FTA ในการขยายการส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ ไปในประเทศคู่ค้าที่ไทยได้เจรจาเปิดตลาดไว้แล้ว รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการผลิต ออกแบบ และการทำตลาดของสินค้า อัญมณีและเครื่องประดับ เพิ่มโอกาสทางการค้าให้กับสินค้าที่มีศักยภาพในจังหวัดจันทบุรี

ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่ส่งออกทุเรียนมากเป็นอันดับที่ 1 ของโลก โดยในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2565 (เดือนมกราคม-พฤษภาคม) ไทยส่งออกทุเรียนไปตลาดโลก มูลค่ารวม 1,780 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 62.2 ของการส่งออก ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็งและแห้งทั้งหมดของไทย และส่งออกกุ้งและผลิตภัณฑ์คิดเป็นมูลค่า 882 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นร้อยละ 4 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า รวมถึงส่งออกสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ (ไม่รวมทองคำไม่ขึ้นรูป) คิดเป็นมูลค่า 3,235 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 47 จากช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (20 ส.ค. 65)

Tags: , , , , , ,
Back to Top