เงินบาทเปิด 36.35 แข็งค่าจากวานนี้ จับตาทิศทางเงินทุนต่างชาติ ให้กรอบ 36.25-36.45

นักบริหารเงินจากธนาคารกรุงศรีอยุธยา เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดตลาดเช้านี้อยู่ที่ 36.35 บาท/ดอลลาร์ ปรับตัวแข็งค่าจากปิดตลาดเย็นวานนี้ที่ระดับ 36.47 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่ดอลลาร์ย่อตัวลงเมื่อเทียบกับเงินยูโร

“บาทแข็งค่าจากเย็นวานนี้ หลังอ่อนค่าไปมากเกือบ 40 สตางค์ ระหว่างวันมีความผันผวนสูง” นักบริหารเงิน กล่าว

นักบริหารเงิน ประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของเงินบาทในวันนี้ไว้ที่ 36.25 – 36.45 บาท/ดอลลาร์ โดยต้องจับตาดูทิศทางของเงินทุนต่างประเทศ

THAI BAHT FIX 3M (29 ส.ค.) อยู่ที่ระดับ 0.78462% ส่วน THAI BAHT FIX 6M อยู่ที่ระดับ 0.85543%

ปัจจัยสำคัญ

  • เงินเยนอยู่ที่ระดับ 138.57 เยน/ดอลลาร์ จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 138.50 เยน/ดอลลาร์
  • เงินยูโรอยู่ที่ระดับ 1.0002 ดอลลาร์/ยูโร จากเย็นวานนี้ที่ระดับ 0.9970 ดอลลาร์/ยูโร
  • อัตราแลกเปลี่ยนเงินบาท/ดอลลาร์ ถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคารของธปท.อยู่ที่ระดับ 36.418 บาท/ดอลลาร์
  • รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกรณีที่คณะกรรมการไตรภาคีแรงงาน เห็นชอบปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำทั่วประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.65 ว่า กรมฯ ติดตามดูผลกระทบการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำที่มีต่อต้นทุนการผลิตและราคาสินค้าจำเป็นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งต้นทุนค่าแรงถือเป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนผลิตสินค้าเท่านั้น เพราะต้นทุนสินค้ามีอีกหลายส่วนที่สำคัญ เช่น วัตถุดิบ พลังงาน
  • “แบงก์พาณิชย์” ประสานเสียงรอสัญญาณ กนง.ก่อนขึ้นดอกเบี้ย ย้ำปรับดอกเบี้ยต้องค่อยเป็นค่อยไป “กรุงไทย” ชี้หาก กนง.ขึ้นรอบ 2 แบงก์ฝืนกลไกตลาดไม่ได้ “กสิกรไทย” ยืนหยัดช่วยลูกค้า จนถึงที่สุด “ทีทีบี” เผยไทยไม่จำเป็นต้องเร่งขึ้นดอกเบี้ย “ซีไอเอ็มบีไทย” ชี้บาทผันผวนต่อเนื่อง ด้านตลาดหุ้นทั่วโลก ทั้งสหรัฐ ยุโรป เอเชียพร้อมใจปรับตัวร่วงลง ทองฟิวเจอร์ บิตคอยน์ราคาดิ่ง
  • “พาณิชย์” กางโพยแจงยอดจดทะเบียนบริษัทตั้งใหม่เดือน ก.ค.65 ทรุด 12% ส่วน 7 เดือนลดลง 1.12% เลิกกิจการพุ่ง 24.42% ลุ้นอานิสงส์โควิดคลี่คลาย ท่องเที่ยวฟื้น ราคาน้ำมันลดลง ส่งออกโตต่อเนื่อง ช่วยหนุนเชื่อมั่นผู้บริโภคขยับ ดันยอดจดทะเบียนธุรกิจใหม่ทั้งปี 65 แตะ 7.2 หมื่นราย
  • รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า การใช้งานโอนเงินพร้อมเพย์ ณ สิ้น มิ.ย.65 มีผู้ลงทะเบียน 70 ล้านหมายเลข เพิ่มขึ้น 22.1% มียอดการโอนเงินเฉลี่ย 38.7 ล้านรายการต่อวัน เพิ่มขึ้น 59.3% มูลค่ารวม 1.21 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 37.6% โดยเฉพาะช่วงโควิดที่ทำให้ประชาชนหันมาใช้จ่ายแทนเงินสดมากขึ้น ทำให้การโอนเงิน
    พร้อมเพย์ของไทยขึ้นเป็นอันดับหนึ่งของโลก
  • ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อยู่ระหว่างเปิดรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) กำหนดให้การประกอบธุรกิจทางการเงินบางประเภทอยู่ภายใต้บังคับของพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 โดยอาศัยอำนาจของพ.ร.บ.ธุรกิจสถาบันการเงิน พ.ศ.2551 เพื่อกำกับดูแลธุรกิจการให้เช่าซื้อและการให้เช่าแบบลีสซิ่งรถยนต์และรถจักรยานยนต์ในส่วนที่ยังไม่มีการกำกับดูแลเป็นการเฉพาะเปิดรับฟังถึง 31 ส.ค. นี้-
  • สัญญาทองคำตลาดนิวยอร์กปิดขยับลงเล็กน้อยในวันจันทร์ (29 ส.ค.) เนื่องจากการพุ่งขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐเป็นปัจจัยกดดันตลาด
  • นักวิเคราะห์จากบริษัท Oanda กล่าวว่า นักลงทุนจับตาการเปิดเผยตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.ของสหรัฐในวันศุกร์นี้อย่างใกล้ชิด โดยหากตัวเลขจ้างงานออกมาแข็งแกร่งกว่าที่คาดการณ์ไว้ ก็อาจเป็นปัจจัยสนับสนุนให้ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งจะสร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำ
  • ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก ๆ ในการซื้อขายที่ตลาดปริวรรตเงินตรานิวยอร์กในวันจันทร์ (29 ส.ค.) หลังจากที่นายเจอโรม พาวเวล ประธานธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ให้คำมั่นว่าเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยต่อไปเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ขณะที่นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรประจำเดือนส.ค.
  • ถ้อยแถลงของนายพาวเวลส่งผลให้นักลงทุนปรับเพิ่มคาดการณ์อัตราดอกเบี้ยของเฟดในการประชุมเดือนก.ย. โดยล่าสุด FedWatch Tool ของ CME Group บ่งชี้ว่า ขณะนี้นักลงทุนให้น้ำหนัก 66.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 3.00-3.25% ในการประชุมวันที่ 20-21 ก.ย. และให้น้ำหนักเพียง 33.5% ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.50%
  • นักลงทุนจับตาข้อมูลเศรษฐกิจด้านอื่น ๆ ของสหรัฐในสัปดาห์นี้ ซึ่งรวมถึงดัชนีราคาบ้านเดือนมิ.ย.โดยเอสแอนด์พี/เคส-ชิลเลอร์, ตัวเลขการเปิดรับสมัครงานและอัตราการหมุนเวียนของแรงงาน (JOLTS) เดือนก.ค., ตัวเลขจ้างงานภาคเอกชนเดือนส.ค.จาก ADP, จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานรายสัปดาห์, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนส.ค.จากเอสแอนด์พี โกลบอล, ดัชนีภาคการผลิตเดือนส.ค.จากสถาบันจัดการด้านอุปทานของสหรัฐ (ISM), การใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนก.ค., ตัวเลขจ้างงานนอกภาคเกษตรเดือนส.ค. และยอดสั่งซื้อภาคโรงงานเดือนก.ค.

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (30 ส.ค. 65)

Tags: ,
Back to Top