In Focus: จับตาฤดูหนาวนี้ยุโรปจะรอดพ้นจากวิกฤตพลังงานหรือไม่

อีกไม่กี่เดือนยุโรปก็จะเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว อุณหภูมิที่กำลังจะลดลงและความหนาวเหน็บที่กำลังจะย่างกรายเข้ามาในขณะที่สถานการณ์ราคาพลังงานทั่วโลกยังไม่มีวี่แววว่าจะดีขึ้น สงครามยูเครนก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะสิ้นสุดลงในเร็ววัน ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปพุ่งสูงขึ้นถึง 10 เท่าเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อผู้บริโภค ภาคอุตสาหกรรม และเสถียรภาพรัฐบาลของประเทศต่าง ๆ

ราคาก๊าซธรรมชาติและค่าไฟที่พุ่งสูงขึ้นเป็นปัญหาใหญ่ที่ยุโรปกำลังเผชิญ แล้วยุโรปจะสามารถรับมือกับวิกฤตครั้งนี้ได้หรือไม่ ต้องติดตามกันอย่างใกล้ชิด

 

*เพราะเหตุใดราคาก๊าซจึงพุ่งสูงขึ้น

ราคาพลังงานทั่วโลกกลับมาดีดตัวขึ้น ภายหลังจากที่นานาประเทศได้ทยอยยกเลิกมาตรการล็อกดาวน์อันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด และเศรษฐกิจของประเทศต่าง ๆ ฟื้นตัวสู่ภาวะปกติ ส่งผลให้ความต้องการด้านพลังงานกลับมาสูงขึ้น และในเดือนก.พ.ที่ผ่านมา ราคาพลังงานกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปพยายามหาทางนำเข้าพลังงานจากประเทศอื่นทดแทนการนำเข้าจากรัสเซีย โดยสหภาพยุโรป (EU) ใช้ก๊าซจากรัสเซียในสัดส่วนถึง 40% ด้วยเหตุนี้ ราคาพลังงานทางเลือกอื่น ๆ จึงปรับตัวสูงขึ้นตามมา

EU มุ่งมั่นที่จะลดการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย โดยเมื่อเดือนก.ค.ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิก EU ก็ตกลงร่วมกันว่า จะลดปริมาณการใช้ก๊าซลง 15% ขณะที่เยอรมนีซึ่งนำเข้าก๊าซจากรัสเซียถึง 55% ก่อนหน้าที่รัสเซียจะบุกยูเครน แต่ปัจจุบันเยอรมนีได้ลดปริมาณการนำเข้าลงเหลือ 35% และวางแผนว่าจะยกเลิกการนำเข้าก๊าซจากรัสเซีย แม้ว่าจะมีแรงกดดันเรื่องการยุติการพึ่งพาก๊าซจากรัสเซีย แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า สถานการณ์ที่รัสเซียจะคุมเข้มหรือหยุดส่งก๊าซ เพื่อตอบโต้ยุโรปที่ให้ความช่วยเหลือด้านการทหารแก่ยูเครนนั้น เป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังจากที่รัสเซียได้รับความเสียหายอย่างมากจากมาตรการคว่ำบาตรของยุโรป

ล่าสุด ก๊าซพรอม บริษัทพลังงานรายใหญ่ของรัสเซียแจ้งว่า จะลดการจัดส่งก๊าซตั้งแต่วันที่ 30 ส.ค. เป็นต้นไป เนื่องจากมีความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันเกี่ยวกับสัญญาบางข้อ นับเป็นการส่งสัญญาณที่ว่า ยุโรปจะเผชิญปัญหาอุปทานพลังงานตึงตัวมากยิ่งขึ้น

นอกจากนี้ ก๊าซพรอมยังวางแผนที่จะระงับการจัดส่งก๊าซผ่านท่อนอร์ดสตรีมไปยังเยอรมนีตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค. เป็นเวลา 3 วันตามแผนการซ่อมบำรุงของบริษัท และยังเปลี่ยนมาส่งออกก๊าซให้กับจีนแทนยุโรป โดยส่งออกก๊าซผ่านทางท่อส่งพาวเวอร์ออฟไซบีเรีย ซึ่งตั้งอยู่ที่ไซบีเรียไปจนถึงภาคตะวันออกของจีนในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นถึง 61% ในช่วงปี 2564 และนับตั้งแต่เดือนก.ค.ที่ผ่านมา ปริมาณการส่งออกยังเพิ่มเป็นประวัติการณ์และยังสูงกว่าปริมาณที่ได้มีการกำหนดไว้ในสัญญา

 

*ผู้บริหารเชลล์เตือนวิกฤตพลังงานยุโรปยืดเยื้อ

เบน แวน บูเดน ประธานบริหารบริษัทเชลล์ได้ออกมาเตือนว่า ยุโรปอาจจะต้องจัดสรรพลังงานอีกเป็นเวลาหลายปีนับจากนี้ เนื่องจากวิกฤตพลังงานที่ยุโรปกำลังเผชิญอยู่ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุดลงแค่ฤดูหนาวของปีนี้ หลังจากที่ราคาก๊าซจากรัสเซียที่ขายให้กับยุโรปพุ่งสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ส่งผลอย่างมากต่อเศรษฐกิจซึ่งท้ายที่สุดอาจถูกดึงเข้าสู่ภาวะถดถอย

ผู้บริหารเชลล์มองว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นนี้ถือเป็นการทดสอบ “ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน” ของบรรดาประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป ในขณะที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ถูกบีบให้รีบหาหนทางพยุงอุตสาหกรรมหลัก ๆ ให้สามารถเดินหน้าต่อไปได้ พร้อมกับแนะนำว่า นานาประเทศต้องหาหนทางแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดพลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การจัดสรรพลังงาน และการสร้างคลังพลังงานทางเลือกอย่างรวดเร็ว

ในขณะที่ผู้บริหารบริษัทโททาลก็มีมุมมองที่ไปในทิศทางเดียวกันผู้บริหารเชลล์ โดยนายแพททริค โปยาน ประธานบริหารบริษัทโททาล ได้แนะนำให้รัฐบาลของประเทศต่าง ๆ ในยุโรปลองคิดเรื่องพลังงานโดยไม่ต้องนึกถึงรัสเซีย เพราะในโลกใบนี้ มีพลังงานเพียงพอโดยที่ไม่ต้องใช้พลังงานจากรัสเซีย

หากจะมาดูกันในฝั่งผู้บริโภคทั่วในบางประเทศอย่างสหราชอาณาจักรนั้น ประชาชนต่างต้องรอคิวติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่บ้านของตนเองเพื่อประหยัดค่าไฟก่อนที่ฤดูหนาวจะมาเยือน ส่งผลให้ดีมานด์ในการติดตั้งโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นกว่า 2 เท่า

 

*IMF คาดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกอ่อนแอลงในปีนี้ หากรัสเซียหยุดส่งออกก๊าซ

ทั้งนี้ หากรัสเซียยกเลิกการส่งออกก๊าซ ไม่เพียงแค่ยุโรปเท่านั้นที่จะได้รับผลกระทบ เศรษฐกิจโลกก็จะได้รับผลกระทบอย่างมหาศาลตามมาด้วยเช่นกัน โดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ได้คำนวณเมื่อช่วงกลางเดือนก.ค.ที่ผ่านมาว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ของฮังการี สโลวาเกีย และสาธารณรัฐเช็ก อาจจะหดตัวลงถึง 6% ขณะที่เศรษฐกิจโลกอาจจะอ่อนแอลง 2.6% ในปีนี้ และอ่อนแอลงอีก 2% ในปี 2566 โดยในระดับประชาชนนั้น ผลกระทบที่เกิดขึ้นอาจจะทำให้หลายคนไม่สามารถใช้ฮีตเตอร์ และประชาชนอีกเป็นจำนวนมากจะต้องเลือกระหว่างความอบอุ่นหรืออาหาร

 

ลีเวลลิน คิง ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงานได้กล่าวไว้อย่างน่าสนใจว่า ในช่วงสิ้นปีนี้ฤดูหนาวของยุโรปจะกลายเป็น “ฤดูหนาวที่เลวร้ายที่สุด” นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2

สถานการณ์ดังกล่าวจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่ ก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (31 ส.ค. 65)

Tags: , , , , , , , ,
Back to Top