สรท. คงเป้าส่งออกทั้งปี 6-8% รอชั่งน้ำหนักปัจจัยเสี่ยง หวังกลุ่มอาหารเป็นเรือธง

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) หรือสภาผู้ส่งออก เปิดเผยว่า สรท. ยังคงคาดการณ์การส่งออกรวมปี 65 ทั้งปีที่ 6-8% (ณ เดือนก.ย. 65) เนื่องจากมีปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ ได้แก่

1. สถานการณ์อัตราเงินเฟ้อโลกที่ยังคงทรงตัวอยู่ในระดับสูง International Monetary Fund (IMF) คาดการณ์เงินเฟ้อปี 65 ประเทศพัฒนาแล้วเฉลี่ยอยู่ที่ 6.6% และประเทศเกิดขึ้นหรือประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 9.5% ซึ่งส่งผลกระทบเป็นวงกว้างโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้น กำลังซื้อผู้บริโภคในระดับกลางและระดับล่างทั่วโลกมีสัญญาณชะลอตัว

2. ราคาพลังงานทรงตัวในระดับสูง จากสถานการณ์ข้อพิพาทระหว่างยูเครนและรัสเซียที่ยังคงยืดเยื้อ ปริมาณน้ำมันคงคลังของสหรัฐฯ ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง ประกอบการปรับขึ้นอัตราค่าไฟฟ้า (FT) ภายในประเทศ ส่งผลต่อเนื่องถึงต้นทุนภาคการผลิตในภาคอุตสาหกรรม และต้นทุนในการดำรงชีวิตภาคครัวเรือน ปรับตัวสูงขึ้นทั่วโลก

3. สถานการณ์ค่าระวางขนส่งสินค้าทางทะเลยังทรงตัวในระดับสูงและเริ่มมีการปรับลดลงในหลายเส้นทาง อีกทั้งค่าใช้จ่ายส่วนเพิ่มที่เกี่ยวข้องกับราคาน้ำมันยังคงมีความผันผวนเปลี่ยนแปลงตามราคาน้ำมันในตลาดโลก ขณะที่สถานการณ์ตู้เปล่าเริ่มผ่อนคลายมากขึ้น

4. ปัญหาต้นทุนวัตถุดิบขาดแคลนและราคาผันผวน อาทิ เซมิคอนดักเตอร์ เหล็ก ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี ถั่วเหลือง ข้าวโพด เมล็ดทานตะวัน แป้งสาลี อาหารสัตว์ ปุ๋ย เป็นต้น

นอกจากนี้ ปัจจัยในประเทศยังมีเรื่องการปรับขึ้นค่าแรงงานในวันที่ 1 ต.ค. นี้ ซึ่งส่งผลให้ต้นทุนของผู้ประกอบการเพิ่มด้วย

“สรท. ยังไม่ปรับเป้าเนื่องจากมีปัจจัยลบเยอะมาก ปัจจัยบวกน้อย เป้าที่ 6% มีอยู่ในกระเป๋าอยู่แล้ว มั่นใจทำได้แน่นอน แต่ถ้าการส่งออกอาหารอีก 5 เดือนโตขึ้น 5% จะแตะที่ 8% หรือมูลค่าส่งออกที่ 292,867 ล้านดอลลาร์ได้ เพราะว่าสินค้าอาหารคือสินค้าเรือธงที่โต Double Digit ส่วนความเสี่ยงเรื่องค่าระวางเรือ และตู้คอนเทนเนอร์ขาดแคลนยังสามารถบริหารจัดการได้ แต่ก็ต้องจับตาเรื่องการขาดแคลนชิป ซึ่งจะเป็นตัวพลิกผันการส่งออกของไทย” นายชัยชาญ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในเดือน ต.ค. 65 สรท. จะเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้ส่งออกระดับโลก เพื่อหารือทิศทางการส่งออกของปีหน้าร่วมกัน เช่น ในเรื่องของค่าระวางเรือที่ยังคงอยู่ในระดับสูง แม้ขณะนี้จะลดลง 30-40% แต่ก่อนหน้านี้ปรับขึ้นไปถึง 400%

อย่างไรก็ดี ภาคการส่งออกยังมีปัจจัยบวก คือ ค่าเงินบาทมีการเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง จากการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสกัดเงินเฟ้อ ส่งผลให้อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐปรับตัวสูงขึ้น หนุนให้ดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าเมื่อเทียบกับสกุลเงินอื่น นอกจากนี้ ไทยยังได้อานิสงส์ในการส่งออกอาหารจากวิกฤติอาหารโลกด้วย

นายชัยชาญ กล่าวต่อว่า หากต้องการดันการส่งออกปีนี้ให้ได้ 10% จำเป็นต้องขอความร่วมมือจากหลายฝ่าย โดย สรท. มีข้อเสนอแนะที่สำคัญ ดังนี้

1. ด้านพลังงานและต้นทุนการผลิตที่ปรับตัวสูงขึ้น ขอให้ภาครัฐช่วยรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันในประเทศให้อยู่ระดับที่เหมาะสม ผ่านเครื่องมือหรือกลไกในการควบคุม เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและผู้บริโภคมากเกินไป

นอกจากนี้ ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาควบคุมหรือตรึงอัตราค่าไฟฟ้า (ค่า FT) ทั้งในภาคการผลิตและภาคครัวเรือนออกไปจนถึงปีหน้า เพื่อให้ผู้ผลิต ภาคครัวเรือน ไม่ต้องแบกรับภาระต้นทุนด้านการผลิต และค่าใช้จ่ายประจำวันที่สูงจนเกินไป

2. ขอให้ภาครัฐช่วยพิจารณาอนุญาต ให้ภาคเอกชนสามารถปรับราคาสินค้าและบริการให้สอดคล้องกับกลไกตลาด และต้นทุนการผลิตที่แท้จริงได้ ให้สามารถดำเนินธุรกิจได้ท่ามกลางสภาวะต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

“สรท. ต้องรับแรงกระแทกจากทั้งในประเทศและต่างประเทศ อย่างไรก็ดี เรื่องต้นทุนพลังงานเพิ่มขึ้นได้ แต่ขอให้ค่อยเป็นค่อยไป ส่วนราคาน้ำมันดีเซลนั้นขอให้ตรึงราคาจนถึงสิ้นปี ขณะที่ในประเทศก็จำเป็นต้องค่อยๆ ปรับราคาสินค้าโดยสะท้อนจากต้นทุนที่แท้จริง เพื่อช่วยผู้ประกอบการ” นายชัยชาญ กล่าว

สำหรับภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยเดือนก.ค. 65 กับเดือนเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า การส่งออกมีมูลค่า 23,629.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัว 4.3% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 829,029 ล้านบาท ขยายตัว 17.0% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในเดือนก.ค.ขยายตัว 4.1%)

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 27,289.8 ล้านเหรียญดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 23.9% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 968,940 ล้านบาท ขยายตัว 38.7% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนก.ค. 65 ขาดดุลเท่ากับ 3,660.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเท่ากับ 139,911 ล้านบาท

ส่วนภาพรวมการค้าระหว่างประเทศของไทยในเดือนม.ค.-ก.ค. ของปี 65 เทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน (YoY) พบว่า ไทยส่งออกรวมมูลค่า 172,814.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 11.5% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 5,774,277 ล้านบาท ขยายตัว 22.2% (เมื่อหักทองคำ น้ำมัน และอาวุธยุทธปัจจัย พบว่าการส่งออกในช่วงม.ค.-ก.ค. ขยายตัว 8.3%)

ขณะที่การนำเข้ามีมูลค่า 182,730.4 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 21.4% และมีมูลค่าในรูปเงินบาทเท่ากับ 6,192,216 ล้านบาท ขยายตัว 33% ส่งผลให้ดุลการค้าของประเทศไทยในเดือนม.ค.-ก.ค. ของปี 65 ขาดดุลเท่ากับ 9,916.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือคิดเป็น 417,939 ล้านบาท

ด้าน นายสุภาพ สุวรรณพิมลกุล รองประธาน สรท. กล่าวถึงภาพรวมสถานการณ์ทั่วโลกในครึ่งปีหลังที่ต้องจับตา ได้แก่ ประเทศสหรัฐฯ ที่อัตราเงินเฟ้อพุ่งสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ต้องใช้มาตรการทางการเงินที่เข้มงวด จึงก่อให้เกิดความกังวลว่าจะเกิด Economic Recession มากขึ้น ด้านอัตราเงินเฟ้อยังคงทรงตัวสูง ขณะที่ GDP ในไตรมาส 2 ของสหรัฐฯ ชะลอตัวลงอย่างเห็นได้ชัด ด้านเฟดยังคงดำเนินการขึ้นดอกเบี้ย และ Quantitative Tightening (QT) ตามแผนต่อไป จนกว่าอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงของสหรัฐฯ จะกลับมาเป็นบวกอีกครั้ง

ขณะที่ยุโรป ประสบปัญหาราคาพลังงานเพิ่มสูงขึ้น หลังจากดำเนินมาตรการคว่ำบาตรรัสเซีย ซึ่งตอกย้ำให้อัตราเงินเฟ้อในยุโรปเพิ่มสูงขึ้น เศรษฐกิจในกลุ่มประเทศยุโรปชะลอตัวลงและเริ่มหดตัวจนเห็นได้ชัด ขณะที่เริ่มเห็นสัญญาณการหดตัวในบางกลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกไปยังยุโรป นอกจากนี้ กลุ่มประเทศยุโรปเร่งดำเนินการหาแหล่งผู้ผลิตและส่งออกพลังงานก๊าซธรรมชาติเพื่อทดแทนก่อนที่จะเข้าฤดูหนาวด้วย

ส่วนประเทศจีน ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรง ทำให้หลายมณฑลต้องสั่งให้โรงงานหยุดการผลิต ส่งผลกระทบต่อสินค้าวัตถุดิบและสินค้าขั้นกลางของไทย เนื่องจากจีนเป็นผู้ผลิตสินค้าขั้นต้นและขั้นกลางรายใหญ่ของโลก อย่างไรก็ดี สินค้าเกษตรของจีนยังขาดแคลน ซึ่งอาจเป็นโอกาสของไทยในการส่งออกสินค้าเกษตรไปยังประเทศจีน ประเทศเพื่อนบ้าน และโลกได้มากขึ้นในช่วงที่โลกประสบปัญหาวิกฤติอาหารในปัจจุบัน นอกจากนี้ ปัญหาวิกฤติภาคอสังหาริมทรัพย์หดตัวอย่างรุนแรง ส่งผลให้ภาพรวมเศรษฐกิจของจีนยิ่งหดตัวรุนแรงมากขึ้น

ในส่วนของข้อพิพาทระหว่างรัสเซียและยูเครนยังคงยืดเยื้อ ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างต่อเศรษฐกิจโลก ทั้งด้านพลังงานและวัตถุดิบทางการเกษตร ขณะที่ยังมีข้อพิพาทระหว่างจีนและไต้หวัน ที่ส่งผลกระทบต่อการนำเข้าชิปเพื่อผลิตรถยนต์และเครื่องใช้ไฟฟ้าบางชนิดของไทย ทำให้การส่งออกของไทยอาจไม่ขยายตัวได้ดีเท่าที่คาดการณ์ไว้ จึงจำเป็นต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

นายสุภาพ กล่าวว่า ภาคการส่งออกของไทยได้ปัจจัยบวกจากเงินบาทที่อ่อนค่า มองว่าถ้าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) ปรับขึ้นดอกเบี้ยในวันที่ 20-21 ก.ย. ที่จะถึงนี้ เงินบาทเดือนก.ย. ก็จะอ่อนค่าเพิ่ม ซึ่งก็ส่งผลดีต่อการส่งออกไทย โดยเฉพาะสินค้าเกษตร ทั้งนี้ เงินบาทอ่อนค่าเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนเกือบ 13% แต่ประเทศคู่ค้า เช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ค่าเงินก็อ่อนค่าเช่นกัน ดังนั้น มองว่าความสามารถในการแข่งขันกับประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่ามากกว่าจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย

ด้านนายคงฤทธิ์ จันทริก ผู้อำนวยการบริหาร สรท. กล่าวว่า สถานการณ์ค่าเงินบาทในเดือนส.ค. 65 มีการเคลื่อนไหวผันผวนในกรอบแคบ แต่ยังคงมีทิศทางอ่อนค่าอย่างต่อเนื่อง ในกรอบ 35.27-36.55 บาท จากปัจจัยสำคัญ คือ การไหลเข้าของเงินทุนระหว่างประเทศที่มีจำนวนลดลงอย่างเห็นได้ชัด จนไปถึงแรงกดดันของธุรกรรมซื้อขายทองเพื่อเก็งกำไรในช่วงที่ผ่าน ทำให้ความต้องการเงินบาทมีการปรับตัวลดลง และทำให้ค่าเงินบาทมีการปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อยในช่วงระยะเวลาสั้นๆ

ขณะที่แรงกดดันจากการคาดการณ์ท่าทีการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ มีความเป็นไปได้ที่จะยังคงปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับสูงเพื่อสะกัดเงินเฟ้ออย่างต่อเนื่อง และจะดำเนินการปรับขึ้นจนกว่าอัตราเงินเฟ้อที่แท้จริงจะกลับมาเป็น 0 หรือมากกว่า ส่งผลให้ค่าเงินบาทอาจได้รับอิทธิพลดังกล่าว และกลับมาเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่าอีกครั้ง

“สถานการณ์ความเคลื่อนไหวอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันที่ 1 ก.ย. 65 เงินบาทอยู่ที่ 36.70 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเงินบาทในเดือนส.ค. แข็งค่าเนื่องจากเงินทุนไหลเข้าลดลง มีการซื้อทองเพื่อเก็งกำไรมากขึ้น ประกอบกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด ดังนั้น มองเงินบาทหลังจากนี้ว่ายังคงทรงตัวในระดับอ่อนค่าต่อไป” นายคงฤทธิ์ กล่าว

ส่วนราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกช่วงเดือนส.ค. ที่ผ่านมา เคลื่อนไหวในกรอบ 96-111 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังคงมีความเสี่ยงสูง จากอัตราเงินเฟ้อกลุ่มประเทศหลักพุ่งสูง ทำให้ธนาคารกลางของแต่ละประเทศดำเนินนโยบายทางการเงินอย่างเข้มงวด ส่งผลต่อเนื่องให้อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจประเทศสำคัญเริ่มชะลอตัวและเริ่มเคลื่อนไหวในแนวโน้มหดตัวลง เช่นเดียวกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัวเช่นกัน รวมถึงสาเหตุด้านอุปทาน ทั้งปริมาณน้ำมันดิบสหรัฐฯ ในคลัง และการส่งสัญญาณปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปก รวมทั้งสถานการณ์ราคาพลังงานในยุโรปหลังมีการคว่ำบาตรนำเข้าจากรัสเซีย ดังนั้น ราคาน้ำมันดิบโลกยังทรงตัวในระดับสูง และมีความผันผวนเล็กน้อยในกรอบแคบ

สำหรับสถานการณ์ค่าระวาง จากข้อมูล Shanghai Containerized Freight Index (SCFI) เปรียบเทียบอัตราค่าระวางระหว่างช่วงเดือนส.ค. พบว่า ในภาพรวมสถานการณ์ขนส่งยังคงที่ ค่าระวางปรับลดลงต่อเนื่องตลอดเดือน และในหลายเส้นทาง ด้านปริมาณตู้คอนเทนเนอร์ยังทรงตัว

 

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (06 ก.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top