ปธ.FETCO ชี้ช่องจังหวะลงทุนท่ามกลางวิกฤติ มองโอกาสเงินไหลเข้าอาเซียน-ไทย

นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) เปิดเผยว่า วิกฤตเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบนี้คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 2-3 ปี โดยจะแบ่งเป็น 4 ช่วง ได้แก่

  • ช่วงที่ 1 หลังจากดัชนีต่างๆปรับตัวขึ้นมาอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 2 ปีก่อนที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ออกมาประกาศว่าเตรียมจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย และดึงสภาพคล่องออกจากตลาด ทำให้นักลงทุนหนีตาย และดัชนีต่างๆได้ปรับตัวลดลงอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน รวมถึงสกุลเงินดิจิทัลด้วย ซึ่งช่วงนี้ได้ผ่านไปแล้วในครึ่งปีแรกของปี 65
  • ช่วงที่ 2 คือ เฟดเดินหน้าขึ้นดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะกินระยะเวลาอย่างน้อยจนถึงกลางปี-ปลายปี 66 เพื่อกดให้เงินเฟ้อปรับตัวลดลงมาให้ได้
  • ช่วงที่ 3 เป็นช่วงของเศรษฐกิจชะลอตัว และเงินเฟ้อเริ่มลดลงเข้าสู่เป้าหมาย

หลังจากนั้นจะเข้าสู่ช่วงที่ 4 คือ ช่วงเวลาที่จะลดดอกเบี้ยอีกครั้งเพื่อที่จะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ

สำหรับตลาดในประเทศเกิดใหม่จะเริ่มเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นในกลาง-ปลายช่วงที่ 3 เริ่มเกิดวิกฤติเนื่องจากประเทศเกิดใหม่ไม่สามารถรับกับดอกเบี้ยที่ปรับตัวขึ้นไปสูงขนาดนั้นได้

“เราอยากจะให้นักลงทุนเห็นพร้อมๆกันว่าช่วงวิกฤติมีทั้งหมด 4 ช่วง ซึ่งการลงทุนของนักลงทุนไม่จำเป็นที่จะต้องรอให้วิกฤตจบเท่านั้นถึงจะเข้าลงทุน เพราะหลายครั้งนักลงทุนคิดว่า แย่ที่สุดได้ผ่านไปแล้วก็สามารถที่จะเข้าลงทุนได้ เพราะฉะนั้นอยากให้นักลงทุนคิดว่าเราอยู่ในช่วงไหนแล้วจะลงทุนอย่างไร”นายกอบศักดิ์ กล่าว

นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง โดยไตรมาส 1/65 เติบโตได้ 2.3% และไตรมาส 2/65 เติบโตได้ 2.5% ขณะที่ตัวเลขการอุปโภคบริโภค การส่งออก และ ภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ อยู่ระหว่างการฟื้นตัว ถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี

ประเทศไทยยังถือว่าได้โชคดีที่อยู่ในภูมิภาคอาเซียนที่มีการเติบโตได้ดี โดยประเทศสมาชิกอาเซียนยังมีการเติบโตในระดับค่อนข้างสูง ส่งผลให้การส่งออกสินค้าไปในอาเซียนยังมีการเติบโต แม้ว่าการส่งออกไปยังประเทศจีน ประเทศสหรัฐ และ สหภาพยุโรปจะมีการชะลอตัวลดลงก็ตาม เพราะฉะนั้นจะทำให้ภูมิภาคอาเซียนมีความแตกต่างจากกลุ่มประเทศเกิดใหม่อื่นๆ

สำหรับทิศทางของเงินทุนต่างประเทศจะไหลเข้าและออกตามสถานการณ์ต่างๆของโลก แต่อย่างไรก็ตามหากมองในภูมิภาคอาเซียนถือว่าเป็นตลาดที่มีการเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง และ มีความเป็นกลางเปิดรับนักลงทุนจากทุกๆประเทศ สามารถนำเงินเข้าเงินออกได้ง่าย เป็นหัวใจหลัก ขณะที่หลายประเทศในภูมิภาคอื่นๆ ยังคงมีปัญหาด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ขยายวงกว้างมากขึ้น

นายกอบศักดิ์ กล่าวอีกว่า ประเทศไทยมีโอกาสที่เงินทุนต่างชาติจะไหลเข้าลงทุนเพิ่มเติม หากสถานการณ์ต่างๆภายในประเทศนิ่ง และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าอาจจะเติบโตไม่มากนัก และเมื่อราคาน้ำมันปรับตัวลดลงการขาดดุลทางการค้าก็จะลดลงตาม ขณะที่นักท่องเที่ยวที่กลับมามากขึ้นก็จะหนุนให้บัญชีเดินสะพัดกลับมาเป็นบวก จะส่งผลให้นักลงทุนมองว่าประเทศไทยมีความมั่นคง

โดย สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (07 ก.ย. 65)

Tags: , , ,
Back to Top